แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยกับพวกร่วมกันมีจดหมายขู่ผู้เสียหายให้นำเงิน 1 ล้านบาทมอบให้จำเลยกับพวก มิฉะนั้นจะฆ่าผู้เสียหายกับบุตรและภริยาผู้เสียหาย ผู้เสียหายแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจทราบ และได้วางแผนจับกุมโดยให้ผู้เสียหายขับรถไปบริเวณที่จำเลยกับพวกนัดหมายไว้เมื่อผู้เสียหายขับรถไปถึงพบจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มาติดต่อเพื่อขอรับเงิน จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจที่ติดตามมาจับกุมได้หลังจากนั้นเกิดการยิงต่อสู้ระหว่างพวกจำเลยกับผู้เสียหายและเจ้าพนักงานตำรวจ เช่นนี้ แม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวก แต่ก็เป็นเวลาต่อเนื่องและเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่จำเลยร่วมกันกระทำยังไม่ขาดตอน โดยจำเลยกับพวกมีเจตนาร่วมกันมาแต่ต้นในข้อที่ว่า หากผู้เสียหายไม่ยอมมอบเงินให้ก็จะฆ่าผู้เสียหายเสีย พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดการกระทำความผิดฐานฆ่าหรือพยายามฆ่าผู้อื่นขึ้นได้ ถือได้ว่าเป็นความผิดที่อยู่ในขอบเขตที่จำเลยกับพวกตกลงร่วมกันจะกระทำมาแต่ต้น จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จึงต้องรับโทษในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นด้วย จำเลยที่ 3 ใช้รถจักรยานยนต์ขับขี่ติดตามรถยนต์ของผู้เสียหายเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดต่อรับเงินจากการกระทำความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ถือได้ว่ารถจักรยานยนต์เป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงให้ริบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมมอบเงิน 1 ล้านบาทแก่จำเลยกับพวก โดยขู่เข็ญว่าจะฆ่าผู้เสียหายรวมทั้งบุตรและภริยาของผู้เสียหายและจำเลยกับพวกร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนและที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองไม่ได้ และพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในทางสาธารณะในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงโดยเจตนาฆ่าเจ้าพนักงานตำรวจและผู้เสียหาย แต่กระสุนปืนไม่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจและถูกร่างกายของผู้ซึ่งช่วยเหลือเจ้าพนักงานตรงบริเวณที่ไม่ใช่อวัยวะสำคัญ บุคคลดังกล่าวจึงไม่ถึงแก่ความตายเจ้าพนักงานยึดอาวุธปืนกับยึดรถจักรยานยนต์ 1 คัน ได้จากจำเลยที่ 3เป็นของกลาง ของกลางดังกล่าวจำเลยกับพวกได้ใช้ในการกระทำผิดขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 288, 289, 337, 371พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ,55, 78 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ข้อ 3, 6, 7 กฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522)พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 8 และริบของกลางทั้งหมด จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ เป็นความผิดต่างกรรมเรียงกระทงลงโทษ ฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 7, 72 จำคุก 2 ปีฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามมาตรา8 ทวิ, 72 ทวิ จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา80, 337 และ 80, 288 เป็นความผิดต่างกรรมเรียงกระทงลงโทษฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ จำคุกคนละ 4 ปี 8 เดือน ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 38 ปีข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์ทุกข้อหาริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง (ประกอบมาตรา 80)ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ในข้อหาความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 กับพวกได้ร่วมกันพยายามกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหาย ในปัญหาความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฎีกาของโจทก์นั้น ผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายขับรถมายังบริเวณที่พวกคนร้ายนัดหมายไว้ ได้พบคนร้ายคนแรกยืนคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่ข้างถนนก่อน จำเลยที่ 3 ถามผู้เสียหายว่ามาซื้อที่ดินใช่ไหมผู้เสียหายตอบว่าใช่ ตามรหัสที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 3 ให้ผู้เสียหายขับรถต่อไป เมื่อไปได้อีกประมาณ 200 เมตรก็พบกับคนร้ายอีก 2 คน และเมื่อผู้เสียหายขับรถต่อไปอีกประมาณ 200 เมตร ได้พบคนร้ายอีก 3 คน ตลอดระยะทางดังกล่าว สิบตำรวจเอกวินัย ภูมิชาติซึ่งนั่งคู่มากับผู้เสียหาย ได้รายงานทางวิทยุให้เจ้าพนักงานตำรวจที่ติดตามไปโดยรถยนต์อีก 2 คันทราบคือ พันตำรวจเอกสรรเพชญธรรมาธิกุล ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราชนั่งรถยนต์ตามไปห่าง ๆ เป็นคันที่สามต่อจากรถยนต์ของร้อยตำรวจโทสมชาย อ่วมถนอม ซึ่งแล่นเป็นคันที่สองถัดจากรถของผู้เสียหายรถยนต์ทั้ง 3 คัน ติดต่อสื่อสารโดยทางวิทยุถึงกันได้โดยตลอดพันตำรวจเอกสรรเพชญได้สั่งให้ผู้เสียหายขับรถเลยไป เมื่อผู้เสียหายขับรถเลยไปได้อีกประมาณ 50 เมตร ก็ถูกคนร้ายระดมยิงร้อยตำรวจโทสมชายเบิกความว่า เมื่อผู้เสียหายขับรถเลยคนร้ายคนแรกไปแล้ว คนร้ายคนแรกได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามรถผู้เสียหายไป ต่อมาไปพบกับคนร้ายอีก 2 คน พยานได้ขับรถติดตามคนร้ายทั้งสามนั้นไป และต่อมาได้จับตัวได้คือ จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ปรากฏตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.4 เมื่อจับกุมจำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 ได้แล้วจึงได้ยินเสียงปืนที่คนร้ายอีกกลุ่มหนึ่งยิงผู้เสียหายกับพวก ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คนร้ายอีกกลุ่มหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวกหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 3ที่ 4 และที่ 5 ได้แล้ว แต่ก็เป็นเวลาต่อเนื่องและเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่คนร้ายร่วมกันกระทำยังไม่ขาดตอน ทั้งคนร้ายเห็นว่าไม่มีทางที่จะได้เงินจากผู้เสียหาย จึงใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายดังกล่าว ปรากฏตามจดหมายของคนร้ายเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ซึ่งมีถึงผู้เสียหายใจความว่า หากผู้เสียหายไม่นำเงินไปมอบให้หรือนำเรื่องไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ คนร้ายจะทำอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งย่อมมีความหมายว่าคนร้ายทั้งหมดรวมทั้งจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ด้วย ต่างมีเจตนาร่วมกันมาแต่ต้นในข้อที่ว่าหากผู้เสียหายไม่ยอมมอบเงินให้ พวกคนร้ายก็จะฆ่าผู้เสียหายเสีย จึงเป็นที่เห็นได้ว่าโดยพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น หรือพยายามฆ่าผู้อื่นขึ้นได้ ถือได้ว่าเป็นความผิดที่อยู่ในขอบเขตที่พวกคนร้ายตกลงร่วมกันจะกระทำมาแต่ต้นนั่นเอง ดังนั้นแม้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จะมิได้เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวก แต่ก็ต้องรับผิดในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่เกิดขึ้นนั้นด้วย และที่โจทก์ฎีกาว่ารถจักรยานยนต์ของกลาง ซึ่งจำเลยที่ 3 ขับขี่ในขณะเกิดเหตุเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำผิดจึงต้องริบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในการที่จำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์มายังที่เกิดเหตุ แล้วยังขับขี่ติดตามรถยนต์ของผู้เสียหายมาก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการที่จะติดต่อรับเงินจากผู้เสียหายในการกระทำความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ จึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดและเห็นสมควรให้ริบเสียด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้น เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเห็นว่า กำหนดโทษหนักเกินไป จึงสมควรแก้ไขให้เหมาะสม”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ลงโทษจำเลยที่ 3ที่ 4 และที่ 5 ในความผิดฐานนี้ ให้จำคุกคนละ 12 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3ที่ 4 และที่ 5 คนละ 16 ปี 8 เดือน รถจักรยานยนต์ของกลางให้ริบนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.