คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2115/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างจ่ายค่าครองชีพแก่ลูกจ้างเป็นจำนวนแน่นอน เป็นรายเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือน ค่าครองชีพจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนเช่นเดียวกับเงินเดือน เป็นค่าจ้าง นายจ้างต้องนำค่าครองชีพมารวมเพื่อคำนวณในการจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ตามข้อบังคับของนายจ้างด้วย
การที่ลูกจ้างได้รับเงินบำเหน็จจากนายจ้างยังไม่ครบถ้วนแม้จะไม่ปรากฏว่าลูกจ้างได้โต้แย้งคัดค้านการจ่ายเงินบำเหน็จของจำเลยไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าลูกจ้างได้สละสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินบำเหน็จในส่วนที่ยังขาดจากนายจ้าง ลูกจ้างย่อมมีสิทธิฟ้องให้นายจ้างชำระเงินบำเหน็จที่นายจ้างจ่ายขาดไปนั้นได้
สิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ลูกจ้างจึงมีสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 นายจ้างจะกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้น้อยกว่า 10 ปีหาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 191 ลูกจ้างฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 10 ปี นายจ้างจะยกข้อบังคับของนายจ้างขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายเงินบำเหน็จหาได้ไม่
เงินบำเหน็จกฎหมายมิได้บังคับให้นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างทันทีที่เลิกจ้างดังเช่นค่าชดเชย นายจ้างจะผิดนัดก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้ทวงถามก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าลูกจ้างได้ทวงถามให้นายจ้างรับผิดชำระเงินบำเหน็จเมื่อใด ลูกจ้างจึงชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยในฐานะนายจ้างโจทก์จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามรายเป็นเงิน 115,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้นำเอาค่าครองชีพมาคำนวณเป็นเงินบำเหน็จ เพราะค่าครองชีพไม่ใช่เงินเดือนหรือค่าจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเอาเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดจากจำเลย โจทก์มิได้โต้แย้งการจ่ายเงินบำเหน็จของจำเลย ถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินบำเหน็จในส่วนที่ขาดแล้ว ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยทวงถามเอาเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดจากจำเลย จำเลยยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดและไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยของเงินบำเหน็จ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดแก่โจทก์แต่ละรายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘คดีมีปัญหาว่าจะต้องนำค่าครองชีพที่โจทก์แต่ละคนได้รับมารวมเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จด้วยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ค่าครองชีพมิใช่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 3.3 และ 3.4 แต่เป็นประโยชน์อย่างอื่นที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการชั่วคราวตามมติคณะรัฐมนตรี ค่าครองชีพจึงถือไม่ได้ว่าเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างที่จะต้องนำมาคิดคำนวณเพื่อจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว ข้อ9.5 พิเคราะห์แล้วในปัญหาดังกล่าวนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยจ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์เป็นจำนวนแน่นอน เป็นรายเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือน ค่าครองชีพจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับเงินเดือน ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 3.3 ให้บทนิยามคำว่า’เงินเดือน’ ไว้ว่า เงินที่องค์การฟอกหนังจ่ายให้แก่พนักงานเป็นรายเดือน เพื่อตอบแทนการทำงานของพนักงาน รวมทั้งเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ แต่ไม่รวมถึงเงินตอบแทนในลักษณะค่าล่วงเวลา โบนัส เบี้ยเลี้ยง เบี้ยกรรมการหรือประโยชน์อย่างอื่นและความในข้อ 9 แห่งข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวระบุถึงหลักเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายเงินบำเหน็จไว้ว่า ข้อ 9.5 พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันเกินกว่า 6 ปีขึ้นไป จ่ายให้เท่ากับเงินเดือนหรือค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีของระยะเวลาทำงาน…’ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าค่าครองชีพเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับเงินเดือน ค่าครองชีพ จึงเข้าลักษณะเป็นเงินเดือนตามบทนิยามของคำว่า ‘เงินเดือน’ตามข้อบังคับของจำเลย และเมื่อถือว่าเป็นเงินเดือนแล้วก็ย่อมไม่ใช่ประโยชน์อย่างอื่นอันไม่ต้องนำมาคำนวณเงินบำเหน็จ จำเลยจึงต้องนำค่าครองชีพมารวมเพื่อคิดคำนวณในการจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ทั้งสิบสามตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว ข้อ 9.5
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์แต่ละคนได้รับเงินบำเหน็จไปจากจำเลยแล้ว โดยมิได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ถือได้ว่าโจทก์แต่ละคนได้สละสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินบำเหน็จในส่วนที่ยังขาดอีก โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินดังกล่าวนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสิบสามได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยยังไม่ครบถ้วนนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้โต้แย้งคัดค้านการจ่ายเงินบำเหน็จของจำเลยไว้แต่อย่างใด ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินบำเหน็จในส่วนที่ยังขาดจากจำเลย โจทก์ทั้งสิบสามย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายขาดไปนั้นได้
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 10 กำหนดว่าจะต้องยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จภายใน 3 ปี ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับได้ มิใช่อายุความ เมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 13 มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงหมดสิทธิไปตามข้อตกลงนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การใช้สิทธิเรียกร้องนั้นโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิได้ภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้ สิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 จำเลยจะกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จให้น้อยกว่า 10 ปี หาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 191 โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี จำเลยจะยกข้อบังคับของจำเลยขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามฟ้องหาได้ไม่
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเงินบำเหน็จไม่มีกฎหมายระบุว่าจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้างทันทีเมื่อเลิกจ้าง ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทุกคนไม่เคยทวงถามเงินบำเหน็จส่วนที่ยังขาดจำเลยยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด จึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้องนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เงินบำเหน็จนั้นกฎหมายมิได้บังคับให้นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างทันทีที่เลิกจ้างดังเช่นค่าชดเชย จำเลยจะผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ทวงถามก่อนแต่ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยรับผิดชำระเงินบำเหน็จตามฟ้องเมื่อใด เมื่อวันทวงถามและผิดนัดไม่ปรากฏชัดแจ้ง โจทก์จึงชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share