คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2115/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่คู่ความตั้งแต่งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 นั้น เป็นการตั้งแต่งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทน ฉะนั้น เมื่อโจทก์ผู้เป็นตัวการถึงแก่กรรมกรณีจึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวการตาย ตัวแทนต้องจัดการอันสมควรทุกอย่าง เพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์อันเขาได้มอบหมายแก่ตนไปจนกว่าทายาทหรือผู้แทนของตัวการจะเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้นๆ ได้ ดังนี้ ทนายโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนย่อมมีหน้าที่ต้องจัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าว. การที่ทนายโจทก์ฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือน จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย หาเป็นโมฆะไม่ แม้ตัวโจทก์จะถึงแก่ความตายไปก่อนที่ศาลชั้นต้นจะได้อ่านคำพิพากษา และยังไม่มีทายาทร้องขอเข้ารับมรดกความและแต่งทนายโจทก์เป็นทนายความของผู้รับมรดกความก็ตาม
จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 คันที่เกิดเหตุรถชนกัน ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 2มาตั้งแต่ก่อนวันเกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ทักท้วงหรือมีบุคคลอื่นขับขี่รถยนต์คันนั้น วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวบรรทุกเครื่องสูบน้ำไปช่วยสูบน้ำให้หมู่บ้านชาวเขาอันเป็นการกระทำเกี่ยวกับหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2. ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ข้อที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำงานในตำแหน่งผู้ชำนาญงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์ใช้ในการก่อสร้าง ไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์นั้น เป็นระเบียบข้อบังคับอันเป็นเรื่องภายในของจำเลยที่ 2 จะอ้างมาต่อสู้หรือใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้
หลังจากเลิกงานขนน้ำเพื่อช่วยเหลือชาวเขาอันเป็นการงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมิได้เอารถเข้าเก็บแต่ได้ขับไปที่แห่งอื่นจนกระทั่งเกิดเหตุชนรถยนต์ของทางราชการทหารอากาศ เป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย ดังนี้ แม้จะเกิดเหตุหลังจากเลิกงานแล้ว ก็ถือว่ายังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เพราะการปฏิบัติหน้าที่ยังไม่เสร็จสิ้นโดยอยู่ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 จะต้องนำรถยนต์มาเก็บที่สำนักงานของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ตามทางการที่จ้าง และตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้าง ด้วยความประมาทขาดความระมัดระวัง เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ของทางราชการกองทัพอากาศ ซึ่งเรืออากาศโทเคลีย บัณฑิตไทย บุตรโจทก์เป็นผู้ขับขี่สวนทางมา เรืออากาศโทเคลียถึงแก่กรรมการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย คือค่าปลงศพ ค่าขาดอุปการะตามกฎหมายรวมเป็นเงิน 160,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันที่เกิดเหตุไปขับขี่โดยพลการ ไม่ใช่ในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทของเรืออากาศโทเคลีย ไม่ใช่ความประมาทของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินสมควร

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายแต่เป็นการกระทำนอกเหนือหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายและมิได้กระทำในขณะปฏิบัติการงานของนายจ้าง ถือไม่ได้ว่าเป็นทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน55,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามฟ้อง ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2ให้ยกเสีย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 31,366.67 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามฟ้อง

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การยื่นอุทธรณ์ของทนายโจทก์โดยที่ตัวโจทก์ได้ถึงแก่ความตายไปก่อนที่ศาลชั้นต้นจะได้อ่านคำพิพากษาและยังไม่มีทายาทร้องขอเข้ารับมรดกความและแต่งทนายโจทก์เป็นทนายความของผู้รับมรดกความ ย่อมเป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่คู่ความตั้งแต่ทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 เป็นการตั้งแต่งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทน กรณีจึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวการตาย ตัวแทนต้องจัดการอันสมควรทุกอย่างเพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์อันเขาได้มอบหมายแก่ตนไปจนกว่าทายาทหรือผู้แทนของตัวการจะเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้น ๆ ได้ฉะนั้น เมื่อโจทก์ผู้เป็นตัวการถึงแก่กรรม ทนายโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนย่อมมีหน้าที่ต้องจัดการดำเนินคดีเพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์ของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ทนายโจทก์ฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือน จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย หาเป็นโมฆะดังที่จำเลยฎีกาไม่

ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดนอกทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การนำเครื่องสูบน้ำและรถยนต์ไปสูบน้ำขนน้ำเพื่อช่วยเหลือหมู่บ้านชาวเขา เป็นการกระทำเกี่ยวกับหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2 ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับขี่รถยนต์ของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 อ้างว่าได้จ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำงานในตำแหน่งผู้ชำนาญงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์ใช้ในการก่อสร้างไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปปฏิบัติงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 2 มาตั้งแต่ก่อนวันเกิดเหตุโดยไม่ปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ทักท้วง และไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นเป็นผู้ขับขี่รถยนต์คันนั้น ถือได้ว่าจำเลยได้ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ระเบียบข้อบังคับที่จำเลยที่ 2 อ้างเป็นเรื่องภายในของจำเลยที่ 2 จะอ้างมาต่อสู้หรือใช้ยันบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนปัญหาที่ว่า ขณะจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ชนรถยนต์ของราชการทหารอากาศ เป็นเหตุให้เรืออากาศโทเคลีย บัณฑิตไทย ถึงแก่ความตายนั้น ยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หลังจากเลิกงานแล้วจำเลยยังมิได้เอารถเข้าเก็บ แต่ได้ขับไปที่แห่งอื่นจนกระทั่งเกิดเหตุ ฉะนั้น แม้จะเกิดเหตุหลังจากเลิกงานขนน้ำเพื่อช่วยเหลือชาวเขา อันเป็นงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว ก็ถือว่ายังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2เพราะการปฏิบัติหน้าที่ยังไม่เสร็จสิ้น โดยอยู่ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 จะต้องนำรถยนต์มาเก็บที่สำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้าง จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1ด้วย พิพากษายืน

Share