คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2110/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มาตรา26 วรรคหนึ่ง นั้น เพื่อให้ศาลบังคับผู้มีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนให้ชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องว่า ค่าทดแทนที่ควรจะได้รับชำระมีจำนวนเท่าใด และคำขอท้ายฟ้องต้องเป็นเรื่องให้บังคับผู้มีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้น แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงจำนวนเงินค่าทดแทนที่เห็นว่าตนพึงได้รับมีเท่าใดและคำขอท้ายฟ้องก็เพียงขอให้บังคับจำเลยดำเนินการตามกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้าง คำฟ้องจึงขาดสาระสำคัญตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีทางที่ศาลจะพิจารณาให้จำเลยรับผิดได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลยและผู้เกี่ยวข้องในฐานะเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ได้เวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดเลขที่ 87225 ถึง 87228,87250 ถึง 87253 และ 87713 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี ที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 2 งาน 14 ตารางวา เมื่อถูกเวนคืนคงเหลือเนื้อที่ 89 ตารางวา พร้อมกับสิ่งปลูกสร้างคือบางส่วนของอาคารบ้านตึกสองชั้นเลขที่ 50/16/1 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 87250, 87251 และ 87252 และรั้วคอนกรีตบล็อกของโจทก์ เพื่อสร้างทางด่วนสายบางโคล่ – แจ้งวัฒนะ จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนเฉพาะที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวนเนื้อที่ 125 ตารางวาเพียงตารางวาละ 3,000 บาท เป็นเงิน 375,000 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับการประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (3) โดยมิได้คำนึงถึงมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (2) (4) และ (5) ต่อมาจำเลยในฐานะผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ได้เพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน250,000 บาท ซึ่งรวมกับของเดิมเป็นเงิน 625,000 บาท หรือคิดเป็นตารางวาละ 5,000 บาท ซึ่งก็มิใช่เป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ตามสภาพและที่ตั้งของที่ดิน ที่จะให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ในฐานะผู้ถูกเวนคืนและแก่สังคม ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 21 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจละเว้นการปฎิบัติการตามหน้าที่ตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในเรื่องสิทธิเรียกร้อง และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามมาตรา 422 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการให้เป็นไปตามความในมาตรา 21 วรรคหนึ่งและวรรคสามแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530
ชั้นตรวจคำฟ้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฟ้องของโจทก์เป็นการบรรยายในลักษณะที่จำเลยละเว้นไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากจำเลยกำหนดความเสียหายเพียงบางส่วน ทำให้โจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการกำหนดค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แต่โจทก์มิได้เรียกร้องจำนวนเงินค่าทดแทนที่อ้างว่าเป็นความเสียหายมาด้วยฟ้องโจทก์จึงขาดส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ทั้งถือได้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงค่าธรรเนียมศาลจึงไม่รับฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องของโจทก์ชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายได้ความว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้เวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ โดยกำหนดค่าทดแทนเฉพาะที่ดินที่ถูกเวนคืนรวม 9 โฉนด เป็นจำนวนเนื้อที่ 125 ตารางวา ตารางวาละ 3,000 บาท เป็นเงิน375,000 บาท ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยในฐานะผู้วินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยมีคำวินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์อีก 250,000 บาทโดยกำหนดให้ตารางวาละ 5,000 บาท แต่ไม่ได้กำหนดค่าทดแทนบางส่วนของอาคารที่ปลูกอยู่ในที่ดินที่ถูกเวนคืนและรั้วคอนกรีตบล๊อกด้วยทั้งค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับตามที่จำเลยกำหนดเพิ่มแล้วดังกล่าวยังไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามสภาพและที่ตั้งของที่ดิน การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายด้วย ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการให้เป็นไปตามความในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เห็นว่า การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้อง เป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่มีผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี และเมื่อมีการนำคดีดังกล่าวมาฟ้อง มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติต่อไปว่าในกรณีที่ศาลวินิจฉัยให้ชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำ ดังนี้ โดยนัยแห่งบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่าการฟ้องคดีตามที่มาตรา 26 วรรคแรก บัญญัติไว้เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ศาลบังคับผู้มีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนให้ชำระค่าทดแทนแก่ผู้เป็นโจทก์เพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีมีคำวินิจฉัยเพราะมิฉะนั้นมาตรา 26 วรรคสาม คงจะไม่บัญญัติถึงดอกเบี้ยของค่าทดแทนที่ศาลวินิจฉัยให้ได้รับชำระเพิ่ม ผู้เป็นโจทก์จึงต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยว่าค่าทดแทนที่ตนควรได้รับชำระมีจำนวนเท่าใดและคำขอท้ายฟ้องต้องเป็นเรื่องให้บังคับผู้มีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีมีคำวินิจฉัย คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายถึงจำนวนค่าทดแทนที่โจทก์เห็นว่า ตนเองพึงได้รับแต่ประการใดไม่ ทั้งคำขอท้ายฟ้องก็เพียงแต่ขอให้จำเลยดำเนินการให้เป็นไปตามบทกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์จึงขาดสาระสำคัญของการฟ้องคดีตามบทบัญญัติมาตรา 26 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่มีทางที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดได้และแม้โจทก์บรรยายฟ้องมาด้วยว่าการที่จำเลยในฐานะผู้วินิจฉัยอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยไม่ถูกต้อง เป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่โจทก์ก็มิได้มีคำขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์จึงชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share