แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์กับสามีโดยชอบด้วยกฎหมายร่วมกันออกเงินซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลย และสามีโจทก์ได้ทำหนังสือให้ความยินยอมแก่โจทก์เพื่อฟ้องจำเลย แต่ปรากฏจากเอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์และการโอนทะเบียนรถยนต์ว่า สามีโจทก์เท่านั้นที่ทำสัญญาเป็นผู้ซื้อรถยนต์พิพาท โจทก์มิได้มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดในการรอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนายสมพงษ์ โฉ่สูงเนิน สามีโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้ร่วมกันซื้อรถยนต์จากจำเลย จำเลยได้โอนสิทธิทางทะเบียนรถยนต์ให้แก่นายสมพงษ์ ต่อมารถยนต์ของโจทก์และนายสมพงษ์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไป โดย อ้างว่าเป็นรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมาและพนักงานสอบสวนได้คืนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่บริษัทเอส.เอ็ม.ที.ลิสซิ่ง จำกัด เจ้าของที่แท้จริงไปแล้วการกระทำดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์กับนายสมพงษ์ถูกรอนสิทธิจำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินค่ารถยนต์กับค่าเสียหายอย่างอื่นให้แก่โจทก์กับนายสมพงษ์ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมกับดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่คู่สัญญากับจำเลย ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดรถยนต์คันพิพาทจากนายสมพงษ์โฉ่สูงเนิน สามีโจทก์ เนื่องจากเป็นรถยนต์ที่ถูกลักไป และได้คืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้ว ปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาโจทก์มีว่าโจทก์ซึ่งเป็นภริยานายสมพงษ์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่าโจทก์นำสืบเพียงว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมพงษ์ ร่วมกันออกเงินซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยและนายสมพงษ์ได้ทำหนังสือให้ความยินยอมแก่โจทก์เพื่อฟ้องจำเลย แต่ปรากฏจากเอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์และการโอนทะเบียนรถยนต์อันได้แก่ บันทึกการขายรถยนต์ ใบเสร็จรับเงินชำระราคารถ และใบคู่มือการจดทะเบียนรถ ตามเอกสารหมาย ป.จ.9 ป.จ.10 และ ป.จ.11 ซึ่งเป็นพยานหลักฐานต่าง ๆของโจทก์เองว่านายสมพงษ์สามีโจทก์เท่านั้นที่ทำสัญญาเป็นผู้ซื้อรถยนต์คันพิพาทไปจากจำเลย โจทก์มิได้มีนิติสัมพันธ์ประการใดกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดเกี่ยวกับการรอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาท คำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว”
พิพากษายืน