คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หากศาลเห็นว่าคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องวางเงินต่อศาลเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์สำหรับความเสียหายที่อาจจะได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดีอันเกิดแต่การยื่นคำร้องของ ผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 วรรคสอง (1) แม้กรณีจะยังไม่ปรากฏความเสียหายชัดแจ้ง แต่เพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโจทก์ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินตามคำพิพากษาตามยอมมีอำนาจยื่นคำร้องขอและศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องวางเงินได้ และการ วางเงินดังกล่าวเป็นคนละประเภทกับเงินค่าขึ้นศาลซึ่งต้องเสียและวางต่อศาลในกรณีที่แตกต่างกัน เมื่อปรากฏว่า จำเลยทั้งสองมีหนี้ต้นเงินที่ค้างชำระแก่โจทก์เพียง 672,095 บาท แต่ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ราคา 3,200,000 บาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ผู้ร้อง วางเงินต่อศาลจำนวน 800,000 บาท จึงสูงเกินไปศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดจำนวนเงินประกันค่าสินไหมทดแทนเสียใหม่ เป็นเงิน 200,000 บาท

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 2,429,176.76 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,172,095.83 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับยอมชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความจำนวน 20,000 บาท กำหนดชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความแต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4413 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 พร้อมบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4413 พร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดเป็นของผู้ร้อง เดิมบิดาผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากผู้มีชื่อแต่ไม่สามารถเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้จึงใส่ชื่อนางสาวนิตยาหรือธัญนันท์ เรืองบุรพา น้องสาวผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ภายหลังบิดายกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงแจ้งให้นางสาวนิตยาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้อง แต่นางสาวนิตยาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2โดยร่วมกันฉ้อฉลผู้ร้อง ผู้ร้องครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมาตั้งแต่บิดายกให้เป็นเวลากว่า 10 ปี ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4413 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของผู้ร้อง
โจทก์ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันกับผู้ร้อง ผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาเพื่อประวิงคดีทำให้การบังคับคดีเนิ่นช้า ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกคำร้อง และยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินต่อศาลจำนวน 3,200,000 บาท เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์สำหรับความเสียหายที่อาจได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1,000,000 บาท ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตาม ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคสอง (1)
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าผู้ร้องประสงค์จะดำเนินคดีชั้นร้องขัดทรัพย์ต่อไปก็ให้นำเงิน 800,000 บาทมาวางต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนท้ายโฉนดเลขที่ 4413 ตำบลรอบเมือง (บำหรุ)อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ว่านายนิพนธ์ วรวงศ์วสุขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสาวนิตยา เรืองบุรพา กับจำเลยที่ 2และพี่น้องของจำเลยที่ 2 อีกรวม 7 คน หาใช่มีแต่ชื่อนางสาวนิตยาเพียงคนเดียวในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนบิดามารดาของนางสาวนิตยาและของผู้ร้องดังผู้ร้องอ้างไม่และถ้าบิดามารดาซึ่งเป็นคนต่างด้วยประสงค์จะให้นางสาวนิตยาถือกรรมสิทธิ์แทนก็หาจำต้องระบุชื่อพี่น้องคนอื่นอีก 6 คน ร่วมถือกรรมสิทธิ์ด้วยไม่ อีกประการหนึ่งปรากฏว่าหลังจากซื้อแล้วมีการนำที่ดินไปจำนองและโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนหลายครั้งตลอดมาจนถึงปี 2531โดยมิได้ขอความยินยอมจากผู้ร้อง ทั้งผู้ร้องก็มิได้ทักท้วงหรือโต้แย้งแต่อย่างใด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้โต้แย้งการยึดทรัพย์ ซึ่งถ้าผู้ร้องครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดมาอยู่จริง จะต้องรู้เห็นและโต้แย้งการจำนองโอนขายและการยึดทรัพย์ดังกล่าว ที่ผู้ร้องว่านางสาวนิตยาถือกรรมสิทธิ์แทนบิดามารดาและผู้ร้องครอบครองที่ดินที่ถูกยึดมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ขาดเหตุผลพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องไม่มีมูล และยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องวางเงินต่อศาล เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์สำหรับความเสียหายที่อาจจะได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดีอันเกิดแต่การยื่นคำร้องของผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคสอง (1) และแม้ขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอดังกล่าวยังไม่ปรากฏความเสียหายชัดแจ้ง แต่เพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องขอและศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องวางเงินได้ และการวางเงินดังกล่าวเป็นคนละประเภทกับเงินค่าขึ้นศาล ซึ่งต้องเสียและวางต่อศาลในกรณีที่แตกต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินต่อศาลชอบแล้ว แต่หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความจำนวน 2,172,095.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนกับค่าทนายความจำนวน 20,000 บาท จำเลยทั้งสองชำระให้โจทก์แล้วจำนวน 1,500,000 บาท ตามรายงานกระบวนพิจารณาและคำแถลงของโจทก์ฉบับลงวันที่ 4 กันยายน 2539 และวันที่ 27 กันยายน 2539คงมีหนี้ต้นเงินที่ค้างชำระเพียงประมาณ 672,095 บาท เท่านั้นแต่ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ราคา 3,200,000 บาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินต่อศาลจำนวน800,000 บาท ยังสูงเกินไป เห็นควรกำหนดเสียใหม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องวางเงินประกันค่าสินไหมทดแทนต่อศาลจำนวน 200,000 บาท ภายใน 15 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้เมื่อผู้ร้องวางเงินภายในกำหนด ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป

Share