คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อนาย ภ. และนาง ล. กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยเป็นผู้นำที่ดินไปจดจำนองเป็นประกัน แม้สัญญาจำนองจะ เขียนว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมเงินจากโจทก์ก็เป็นการเขียนข้อความ ลงไว้ไม่ตรงตามความเป็นจริง ต้องถือว่าการกู้ยืมเงินดังกล่าว เป็นกรณีที่จำเลยทำแทนนาย ภ.และนางล.ต่อมาเมื่อนายภ. และนางล. มอบเงินให้จำเลยไปไถ่ถอนจำนองจากโจทก์ ปรากฏว่ายังมีหนี้เงินยืมค้างชำระบางส่วน จำเลยจึงทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้กับโจทก์ ก็ต้องถือว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวกับโจทก์แทนนาย ภ.และนาง ล.หาใช่จำเลยเป็นผู้กู้ยืมเงินจากโจทก์ไม่ ดังนั้นบุคคลผู้ซึ่งมีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาฉบับดังกล่าวคือ นายภ. และนาง ล. มิใช่จำเลย เมื่อนายภ.กับนางล.ชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์เรียบร้อยแล้วหนี้ตามฟ้องจึงระงับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้กับโจทก์ต่อมาจำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าว จำเลยจะต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ 526,000 บาท แต่จำเลยมีเงินไม่พอยังขาดอยู่64,000 บาท โจทก์ยอมให้จำเลยทำสัญญากู้เงินโดยถือว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 64,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จำเลยสัญญาจะชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ภายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2535 ถึงกำหนดจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ย 81,294 บาท
จำเลยให้การว่า นายภิรมย์ อินสว่าง พี่ชายโจทก์ และนางลัดดา อินสว่าง หลานจำเลยซึ่งเป็นภรรยานายภิรมย์ได้ร่วมกันกู้ยืมเงินจำเลย 320,000 บาท ต่อมานายภิรมย์และนางลัดดาต้องการเงินเพิ่มจึงขอร้องให้จำเลยนำที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้ที่จะไปกู้ยืมจากโจทก์ จำเลยจึงได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ที่นายภิรมย์และนางลัดดากู้ยืมเงินโจทก์ 450,000บาท ต่อมาโจทก์ให้จำเลยทวงหนี้จากนายภิรมย์และนางลัดดานางลัดดาไปกู้ยืมเงินอื่นได้ 500,000 บาท นายภิรมย์และนางลัดดาจึงมอบเงิน 500,000 บาท ให้จำเลยไปไถ่จำนอง หากเงินยังขาดอยู่เท่าใดนายภิรมย์และนางลัดดาจะชำระให้โจทก์ภายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์คิดแล้วนายภิรมย์และนางลัดดาคงค้างอีก 64,000 บาท ไถ่ถอนจำนองแล้วโจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้เงิน 64,000 บาท เพื่อจำเลยจะได้ติดตามทวงหนี้ให้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 64,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2533 นายภิรมย์ อินสว่างกับนางลัดดา อินสว่าง กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 450,000 บาทโดยมีจำเลยเป็นผู้จำนองที่ดินของจำเลยค้ำประกัน ปรากฏตามสำเนาสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.1 หลังจากกู้แล้วนางลัดดาได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตลอดมา ต่อมาจำเลยต้องการโฉนดที่ดินที่จำนองกลับคืนเพื่อจะนำไปแบ่งแยกให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม นายภิรมย์และนางลัดดาจึงให้จำเลยไปไถ่ถอนจำนองจากโจทก์ซึ่งจำเลยได้นำเงินไปชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองจากโจทก์เป็นเงิน 450,000บาท จำนวนเงินที่จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวยังไม่ครบตามจำนวนหนี้ที่นายภิรมย์และนางลัดดาค้างชำระแก่โจทก์ กล่าวคือยังคงขาดอยู่อีก 64,000 บาท จำเลยจึงทำสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์ไว้โดยระบุในสัญญาว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 64,000 บาท ปรากฏตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 แล้วหรือไม่จากข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ฟังยุติดังกล่าวข้างต้นเห็นได้ว่าตามความเป็นจริงแล้วเดิมนายภิรมย์และนางลัดดากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 450,000 บาท โดยมีจำเลยเป็นผู้นำที่ดินของจำเลยไปจำนองเป็นประกันไว้ต่อโจทก์ ปรากฏตามสำเนาสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.1 เมื่อเป็นเช่นนี้ถึงแม้ตามสัญญาจำนองจะเขียนไว้ว่าจำเลยเป็นผู้กู้เงินโจทก์ก็เป็นการเขียนข้อความลงไว้ไม่ตรงตามความเป็นจริง การกู้ยืมตามที่เขียนไว้ในสัญญาจำนองจึงเป็นกรณีที่จำเลยทำแทนนายภิรมย์และนางลัดดาหาใช่จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์อย่างใดไม่ จากคำเบิกความของโจทก์ได้ความว่าหนี้เงินกู้ดังกล่าวนายภิรมย์และนางลัดดาเป็นผู้รับผิดชอบชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยซึ่งนางลัดดาได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตลอดมา ต่อมาเมื่อจำเลยต้องการโฉนดที่ดินที่นำไปจำนองคืนเพื่อไปแบ่งแยกให้แก่พี่น้อง โจทก์จึงบอกให้นายภิรมย์และนางลัดดาไปไถ่ถอนจำนองและปรากฏจากคำเบิกความนางลัดดาพยานโจทก์ว่าจำเลยได้หาเจ้าหนี้เงินกู้ให้นางลัดดาเพื่อนำเงินไปไถ่ถอนจำนองให้ด้วย ซึ่งต่อมานายภิรมย์และนางลัดดาก็ให้จำเลยนำเงินกู้ดังกล่าวไปไถ่ถอนจำนองจำนวน 450,000 บาท และยังค้างชำระดอกเบี้ยอยู่อีก 64,000 บาท จากคำเบิกความของโจทก์และจำเลยได้ความว่าหนี้ที่นายภิรมย์และนางลัดดายังค้างชำระดังกล่าวจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์ไว้ปรากฏตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาจะเห็นได้ว่าการกู้ยืมเงินจำนวน 450,000 บาท ตามที่เขียนไว้ในสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.1 ก็ดี การหาเงินมาไถ่ถอนจำนองรวมตลอดถึงการนำเงินไปไถ่ถอนจำนองก็ดีเป็นเรื่องที่จำเลยทำแทนนายภิรมย์และนางลัดดาทั้งสิ้น เมื่อปรากฏว่าในขณะที่จำเลยนำเงินไปไถ่ถอนจำนองนายภิรมย์และนางลัดดายังมีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์อยู่อีก 64,000 บาท การที่จำเลยทำสัญญากู้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พฤติการณ์จึงเป็นทำนองเดียวกับการทำสัญญาจำนองจำนวน 450,000 บาทนั่นเอง กล่าวคือเป็นเรื่องที่จำเลยทำแทนนายภิรมย์และนางลัดดา หาใช่จำเลยเป็นผู้กู้เงินโจทก์อย่างใดไม่ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีความผูกพันต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1ให้แก่โจทก์คือนายภิรมย์และนางลัดดา มิใช่จำเลยดังที่โจทก์ฟ้องทั้งข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลยและคำเบิกความของโจทก์ก็ได้ความอีกว่าภายหลังต่อมานายภิรมย์ได้ชำระเงินจำนวน 64,000 บาท ให้แก่โจทก์ไปเรียบร้อยแล้ว ที่โจทก์เบิกความทำนองว่าเงินที่โจทก์รับมาจากนายภิรมย์จำนวน 64,000 บาท เป็นเงินที่โจทก์ยืมจากนายภิรมย์นั้นเห็นว่าขัดต่อเหตุผล เพราะเมื่อนายภิรมย์และนางลัดดายังค้างชำระหนี้แก่โจทก์อยู่ 64,000 บาท แล้วโจทก์จะต้องไปยืมเงินจำนวนดังกล่าวจากนายภิรมย์ทำไมอีก ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าของโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 แทนนายภิรมย์และนางลัดดา และนายภิรมย์กับนางลัดดาได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ไปเรียบร้อยแล้ว หนี้ตามฟ้องจึงระงับศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นด้วยในผลฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share