คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีพยานคือผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่เบิกความถึงการกระทำของจำเลย แต่ก็มีน้ำหนักน่าเชื่อเพราะเหตุเกิดเวลากลางวัน พยานมีโอกาสได้เห็นคนร้ายได้ชัดเจน และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยมา ได้ให้ผู้เสียหายดูตัวผู้เสียหายก็ยืนยันในทันทีว่า จำเลยเป็นคนที่ร่วมกับคนร้ายช่วยฉุดพาผู้เสียหายลงเรือ ทั้งไม่มีเหตุที่จะพึงระแวงว่าผู้เสียหายปรักปรำใส่ร้ายจำเลย จึงเชื่อได้ว่าได้เบิกความไปตามที่ได้รู้เห็นจริง
คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนไม่ได้รับสารภาพผิด เพียงแต่อ้างว่าจำเลยอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยเท่านั้น คำให้การดังกล่าวย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลจึงไม่ลดโทษให้
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ. ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา60 พรรษา พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ ซึ่งล้างมลทินโทษจำเลยที่เคยต้องคำพิพากษาและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษและกักกันจำเลยไม่ได้
ศาลล่างพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 โดยมิได้ระบุวรรคนั้น ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 92, 83, 41, 39, 284, 309, 310พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่5) พ.ศ. 2525มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 เพิ่มโทษนับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 425/2519 ของศาลชั้นต้น และสั่งใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยโดยกักกันจำเลยด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเคยต้องโทษจำคุกตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 284 ประกอบด้วยมาตรา 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่5) พ.ศ. 2525 มาตรา 4จำคุก 6 ปี เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสามคงจำคุก 8 ปี นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่425/2519 ของศาลชั้นต้น เมื่อครบกำหนดโทษจำคุก ให้ส่งตัวจำเลยไปกักกัน ณ สถานกักกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39 (1),41 (8) มีกำหนด 10 ปี คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กักกันจำเลยมีกำหนด 5 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า เมื่อผู้เสียหายถูกนายอู๊ดกับพวกช่วยกันจับพาลงจากรถเก๋งนั้น จำเลยนี้ซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์มาจอดอยู่ใต้สะพานได้ตรงเข้าไปช่วยนายอู๊ดกับพวกฉุดนำผู้เสียหายลงเรือยนต์หางยาวซึ่งติดเครื่องรออยู่แล้ว เห็นว่า แม้โจทก์จะมีพยานคือผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่เบิกความถึงการกระทำของจำเลยดังกล่าว แต่ก็มีน้ำหนักน่าเชื่อเพราะเหตุเกิดเวลากลางวัน พยานมีโอกาสได้เห็นคนร้ายได้ชัดเจน และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยมา ได้ให้ผู้เสียหายดูตัวผู้เสียหายก็ยืนยันในทันทีว่า จำเลยเป็นคนที่ร่วมกับคนร้ายช่วยฉุดพาผู้เสียหายลงเรือ ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุที่จะพึงระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำใส่ร้ายจำเลย เชื่อว่าได้เบิกความไปตามที่ได้รู้เห็นจริง ได้ความว่าเมื่อคนร้ายฉุดผู้เสียหายลงเรือยนต์หางยาวขับพาหนีไปนั้น จำเลยก็ลงเรือยนต์สองตอนตามไปด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นได้ชัดว่า จำเลยเป็นพวกของคนร้ายซึ่งร่วมกระทำความผิดด้วย พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนัก เชื่อว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกใช้กำลังประทุษร้ายพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารตามที่โจทก์ฟ้องจริง
ที่จำเลยฎีกาว่า คำรับของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาควรจะลดโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนมิใช่เป็นการรับสารภาพผิด เพียงแต่อ้างว่าจำเลยอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยเท่านั้น คำให้การของจำเลยดังกล่าวย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่ลดโทษให้จำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
แต่ในข้อที่เพิ่มฌทษและให้กักกันจำเลยนั้น ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 ใช้บังคับมาตรา 4 ล้างมลทินโทษจำเลยซึ่งต้องคำพิพากษาดังกล่าว และพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษและกักกันจำเลยไม่ได้ และที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 โดยมิได้ระบุวรรคนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา284 วรรคแรก ไม่เพิ่มโทษ และไม่กักกันจำเลย คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’.

Share