คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยกับพวกอีก 4 คนได้เข้าหุ้นกันทำการค้าตั้งภัตตาคาร และตกลงกันว่าจะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด แต่แล้วกิจการไม่ดีต้องเรียกค่าหุ้นเพิ่มอีก 200,000 บาท ในการเรียกค่าหุ้นเพิ่มนี้โจทก์จำเลยกับพวกได้ทำสัญญากันไว้ว่า ผู้ถือหุ้นทุกคนตกลงให้บริษัทกู้เงินจากโจทก์ 200,000 บาท และให้ลงบัญชีให้โจทก์เป็นเจ้าหนี้บริษัทฯ โดยไม่ต้องขอมติที่ประชุมบริษัทฯอีก จำเลยกับพวกอีก 4 คนยอมเป็นผู้ค้ำประกัน หากหนี้รายนี้ไม่มีวิธีอื่นหรือไม่สะดวกที่จะบังคับได้ ผู้ค้ำประกันยอมโอนขายหุ้นของแต่ละคนให้โจทก์ตามราคาในใบหุ้นดังนี้ สัญญาที่ทำขึ้นนี้หาใช่สัญญาที่จำเลยกับพวกกู้เงินโจทก์ไม่ แต่เป็นสัญญาที่บริษัทฯ เป็นผู้กู้และจำเลยกับพวกเป็นผู้ค้ำประกันโดยกำหนดวิธีการแก้ไขให้โจทก์ได้เงินกู้คือไว้ล่วงหน้าว่าให้จำเลยกับพวกโอนขายหุ้นของตนให้โจทก์เท่านั้น เมื่อต่อมาไม่มีการตั้งบริษัทขึ้น และจำเลยกับพวกได้ขายหุ้นของตนที่มีอยู่ในภัตตาคารให้โจทก์ไปหมดทุกคนแล้ว ก็ย่อมเป็นอันเลิกแล้วต่อกันไม่มีหนี้ต่อกันอีก โจทก์จะฟ้องเรียกเงินตามสัญญาดังกล่าวจากจำเลยตามส่วนเฉลี่ยที่จำเลยรับผิดชอบอีกหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นปี ๒๕๑๓ โจทก์กับพวกอีก ๔ คนได้ร่วมกันเข้าหุ้นเพื่อดำเนินการค้าเป็นภัตตาคาร ตกลงกันจะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดจะใช้ชื่อว่า ภัตตาคารทรายเงิน จำกัด และได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการจดทะเบียน ต่อมาวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๑๓ ปรากฏว่าเงินค่าหุ้นที่เรียกไว้ไม่พอดำเนินการ แต่จะต้องทำการค้าต่อไป ผู้ถือหุ้นทุกคนตกลงเพิ่มหุ้น โจทก์ได้ส่งมอบส่วนของโจทก์แล้ว แต่จำเลยกับพวกไม่มีเงิน จึงตกลงให้ภัตตาคารทรายเงินกู้เงินจากโจทก์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท และเมื่อจดทะเบียนเป็นบริษัทแล้วตกลงกันว่า ให้โจทก์เป็นเจ้าหนี้บริษัทเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์เอาเงินบริษัทมาใช้หนี้โจทก์ จำเลยกับพวกได้รับเงิน ๒๐๐.๐๐๐ บาทไปจากโจทก์แล้วและได้ลงชื่อในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน ต่อมาจำเลยมิได้จัดการจดทะเบียนและกิจการภัตตาคารทรายเงินขาดทุน ต้องเลิกกินการไป ฉะนั้นจำเลยกับพวกรวม ๕ คน คงเป็นหนี้โจทก์อยู่คนละ๔๐,๐๐๐ บาท โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงของศาลบังคับให้จำเลยชำระพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา ๒๑ เดือน รวมทั้งสิ้น ๔๒,๔๕๐ บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีในเงินต้น ๔๐,๐๐๐บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาตามฟ้องจริง คือเมื่อต้นปี ๒๕๑๓ โจทก์จำเลยกับพวกอีก ๔ คนได้ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญดำเนินการค้าอาหารชื่อภัตตาคารทรายเงิน ต่อมากิจการไม่ได้ หุ้นส่วนทุกคนตกลงขอกู้เงินจากโจทก์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมากิจการขาดทุนอีก จำเลยจึงโอนหุ้นให้โจทก์ในราคา ๑๕,๐๐๐ บาท โจทก์มีสิทธิถือหุ้นแทนจำเลยต่อไป และจำเลยก็ต้องหลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินของห้างหุ้นส่วน และตัดฟ้องว่ากิจการภัตตาคารต้องชำระบัญชีเสียก่อน โจทก์จะฟ้องก่อนชำระบัญชีไม่ได้ กับว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคุลม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และแม้จำเลยจะโอนหุ้นให้โจทก์ แต่โจทก์ก็ไม่ยอมยกหนี้ ๔๐,๐๐๐บาทให้ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยนำสืบตรงกันว่า ภัตตาคารทรายเงินนี้ โจทก์จำเลยร่วมกับนายอุทิศ วัฒนาประทีบ นายโปะโปย แซ่อุย นายตี๋ต๊อง แซ่ยู่ และนายเองฮุ๊ย หรือนายโกเจ๊ก ร่วมกันตั้งขึ้นโดยตกลงกันจะจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด แต่แล้วกิจการไม่ดี ต้องมีการเรียกค่าหุ้นเพิ่มอีกสองแสนบาท แต่ก็ขาดทุนอีก และไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนดำเนินการต่อไปไม่ได้ โจทก์จึงต้องดำเนินการต่อไปคนเดียว และล้มเลิกไปในที่สุด
จำเลยมีผู้ถือหุ้นร่วมกันอีก ๒คน คือนายอุทิศและนายติกองหรือตี๋ต๊องมาเบิกความสนับสนุนว่า เมื่อดำเนินกิจการต่อไปไม่ไหวนั้น ในครั้งแรกต้องกู้เงินโจทก์อีกสองแสนบาท โดยหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบ ต่อมาโจทก์ผู้ดำเนินการก็จะขยายงานออกไปอีก แต่ผู้ถือหุ้นส่วนมากไม่ตกลงหรือเห็นขอบด้วย ขอให้สะสางหนี้สินและจะโอนหุ้นให้โจทก์ โดยเมื่อเริ่มต้นนั้นโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คือครึ่งหนึ่งเป็นเงินสองแสนบาท ส่วนอีก ๕ คนคือจำเลยกับพวกคนละสี่หมื่นบาท โจทก์เป็นผู้เก็บเงินและผู้ดำเนินการ เมื่อมีการสะสางหนี้สินกันนั้นทุกคนที่ยอมโอนหุ้นให้โจทก์ต่างได้รับเงินสดคืนมาคนละสองหมื่นบาท แล้วไม่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนจำเลยนั้นขั้นแรกไม่ยอม แต่ต่อมาก็ยอมขายหุ้นคืนให้โจทก์เช่นเดียวกัน แต่ได้เงินคืนจากโจทก์เพียง ๑๕,๐๐๐ บาท เพราะโจทก์ถือว่าไม่ยอมโอนให้โดยดีเสียแต่แรก โดยโจทก์จ่ายเช็คราคา ๑๐,๐๐๐ บาท ๑ ฉบับ ส่วนอีก ๕,๐๐๐ บาทโจทก์ทำหนังสือให้จำเลยไว้ตามเอกสารหมาย ล.๑ , ล.๒ และคืนเช็คเอกสารหมาย ล.๓ ให้เป็นการหักหนี้ จำเลยมีผู้ถือหุ้นถึง ๓ คนเบิกความประกอบกับเอกสาร ล.๑, ล.๒ และ ล.๓ ติดต่อกันฟังได้ชัดเจนเช่นนี้ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบภายหลังก็มิได้นำสืบหักล้างเอกสาร ล.๒ ล.๓ ให้เห็นเป็นอื่นแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ปัญหาจึงมีต่อไปว่า ถ้ากระนั้นแล้วระหว่างโจทก์กับจำเลยยังจะมีหนี้สินอะไรต่อกันอีกหรือไม่
โจทก์อ้างเอกสาร จ.๑ เป็นหลักฐานว่า จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้โจทก์อีก ๔๐,๐๐๐ บาท แต่ตามเอกสาร จ.๑ นี้ปรากฏชัดว่าเป็นเรื่องบริษัทกู้ ไม่ใช่จำเลยหรือผู้ถือหุ้นกู้ เพราะข้อความบ่งชัดว่า “ผู้ถือหุ้นทุกคนตกลงให้บริษัทฯ กู้เงินจากนายสวัสดิ์ รุ่งอรุณ(ผู้ถือ) จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท …………….” และเมื่อมีการไม่ชำระหนี้รายนี้แล้วก็หาระบุหรือกำหนดให้ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ร่วมกันชำระไม่ โดยระบุไว้ในสัญญา จ.๑ ข้อ ข.ว่า “ให้ลงบัญชีเป็นเจ้าหนี้บริษัทฯ โดยไม่ต้องขอมติที่ประชุมอีก” และในข้อ ค. ก็กลับระบุถึงความรับผิดของผู้ถือหุ้นมาเป็นเพียงผู้ค้ำประกันเท่านั้น โดยระบุว่า “(ค) ผู้ถือหุ้นทุกคนบรรดาที่ลงชื่อในสัญญานี้ย่อมเข้าผูกพันเป็นผู้ค้ำประกัน…………..” และยังได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้อีกด้วยว่าหากนี้รายนี้ไม่มีวิธีอื่นหรือไม่สะดวกจะบังคับเอาได้ ผู้ค้ำประกันยอมโอนขายหุ้นของแต่ละคนให้ผู้ให้กู้ในราคาในใบหุ้น” จึงเห็นได้ว่าสัญญา จ.๑ ที่โจทก์ถือเป็นหลักฐานอันสำคัญยิ่งจะเรียกร้องเอาเงิน ๔๐,๐๐๐ บาทจากจำเลยนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงสัญญาค้ำประกันซึ่งกำหนดวิธีการแก้ไขให้ได้เงินคืนมาไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยเพียงแต่ผู้ถือหุ้นโอนขายหุ้นของตนคืนให้โจทก์เท่านั้น ทุกสิ่งก็หมดสิ้นต่อกัน ดังนั้นเมื่อผู้ถือหุ้นโอนขายส่วนของตนให้โจทก์คืนไป โจทก์ก็คืนให้คนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ต่ำกว่าที่ลงทุนก็คงเป็นเพราะกิจการขาดทุน จำเลยก็ได้โอนหุ้นขายให้โจทก์เช่นเดียวกัน แต่เป็นรายหลังสุด โจทก์จึงให้ราคาเพียง ๑๕,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ล.๑, ล.๒ ดังนั้นหนี้สินระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่มีอะไรต่อกันอีก เพราะเมื่อได้ปฏิบัติต่อกันตามสัญญา จ.๑ แล้ว กรณีก็เป็นอันเลิกแล้วต่อกัน ที่โจทก์อ้างว่าเอกสาร ล.๑ เป็นการหักหนี้กันตั้งแต่เริ่มลงหุ้นนั้นรับฟังเป็นจริงไม่ได้ เพราะเอกสาร ล.๑ นี้ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องโอนหุ้น คือโอนขายหุ้นตามสัญญา จ.๑ จองโจทก์นั้นเอง และปฏิบัติไปนั้นก็ชอบด้วยเหตุผลตามที่ทางเป็นจริงแล้วด้วยเพราะกิจการขาดทุน จำเลยและหุ้นส่วนอีก ๔ คนได้รับคืนไปคนละ ๒๐,๐๐๐ บาท จากเงินที่ลงทุนไปตอนแรกเริ่มคนละ ๔๐,๐๐๐ บาท คือได้รับผลเสียทุกคน หากโจทก์อ้างว่ายังมีหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์อีก ๔๐,๐๐๐ บาท ตามส่วนเฉลี่ยของสัญญา จ.๑ ดังที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องเป็นคดีนี้จริงแล้ว เหตุใดโจทก์ยังจะกลับชำระเงินให้จำเลยอีก ๑๕,๐๐๐ บาท ตามเอกสาร ล.๑, ล.๒ หากเป็นหนี้กันจริงโจทก์ก็น่าจะต้องหักหนี้ไว้และเรียกร้องให้จำเลยชำระให้โจทก์อีก ๒๕,๐๐๐ บาท หาใช่โจทก์ต้องชำระให้จำเลยอีก ๑๕,๐๐๐ บาทตามเอกสาร ล.๑, ล.๒ นั้นไม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า “แม้จำเลยจะโอนหุ้นให้โจทก์ก็ดี แต่โจทก์ก็ไม่ยอมยกหนี้เงิน ๔๐,๐๐๐ บาทให้แก่จำเลย” จึงไม่ถูกต้องเพราะขัดกับข้อความในสัญญา จ.๑ ดังกล่าว และโจทก์ไม่มีสิทธิกระทำเช่นนั้นได้
สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารสัญญา จ.๑ของโจทก์ที่โจทก์ถือเป็นเอกสารการกู้นั้น แท้จริงเป็นแต่เพียงสัญญาที่ให้อำนาจโจทก์บังคับผู้ถือหุ้นให้โอนขายหุ้นของแต่ละคนให้โจทก์ในราคาเท่าราคาในใบหุ้นเท่านั้น และเมื่อผู้ถือหุ้นได้โอนขายให้โจทก์ไปหมดทุกคนแล้วโดยต่างก็ได้รับเงินค่าขายหุ้นจากโจทก์ไปทุกคนคนละ ๒๐,๐๐๐ บาท สำหรับจำเลยได้รับเพียง ๑๕,๐๐๐ บาท กรณีก็เป็นอันเลิกแล้วต่อกันหามีหนี้สินอะไรต่อกันอีกไม่ ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นคดีนี้ก็อาจเป็นเพราะเช็คราคา ๑๐,๐๐๐ บาท ที่โจทก์ออกให้จำเลยนั้น จำเลยนำไปขึ้นเงินไม่ได้ จึงต้องฟ้องและได้รับชำระ ๕,๐๐๐บาท โจทก์ผูกใจเจ็บแค้น จึงฟ้องจำเลย ดังข้อนำสืบของจำเลยก็เป็นได้ ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์อีก ๔๐,๐๐๐บาท นั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
(ยิ่งศักดิ์ กฤษณจินดา วิกรม เมาลานนท์ สุธี ชอบธรรม)

Share