คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งของจำเลยกำหนดว่า พนักงานของจำเลยต้องชำระค่าระวางสิ่งของที่นำไปกับขบวนรถเสียก่อนแล้วไปขอเบิกคืนทีหลัง เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่ามีผู้นำสิ่งของขึ้นไปกับขบวนรถเกินกว่าน้ำหนักเท่าใด เพราะค่าระวางส่วนที่เกินนี้ไม่สามารถเบิกคืนได้ การที่โจทก์นำสิ่งของน้ำหนัก 34 กิโลกรัม ขึ้นไปกับขบวนรถโดยมิได้เสียค่าระวาง ย่อมทำให้จำเลยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าโจทก์ได้นำสิ่งของขึ้นไปกับขบวนรถเกินกว่าน้ำหนักที่กำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าระวางในแต่ละเดือนเท่าใด จำเลยจึงเสียหายต้องขาดรายได้จากค่าระวางในส่วนที่เกินกำหนดให้ได้รับยกเว้น ส่วนโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ไม่ต้องเสียค่าระวางในส่วนที่เกินกำหนดดังกล่าวการกระทำของโจทก์เป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ ด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้อง
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คำสั่งของจำเลยระบุว่า
2. พนักงานที่มีสิทธิได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าระวางสำหรับสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีผู้ส่งมาให้หรือนำมาด้วยตนเอง ให้ถือตามจำนวนน้ำหนัก ดังนี้
2.1 พนักงานที่มีตำแหน่งตั้งแต่ชั้นประจำแผนกหรือเทียบเท่าลงมาอนุญาตให้เดือนหนึ่งไม่เกิน 200 กิโลกรัม ถ้าเกินกว่านี้ต้องเสียค่าระวางตามจำนวนน้ำหนักที่เกินอัตรา
ฯลฯ
4. พนักงานที่มีตำแหน่งตั้งแต่ชั้นหัวหน้าแผนกหรือเทียบเท่าขึ้นไปอนุญาตให้ลงบัญชีค่าระวางเป็นเงินค้างไว้ก่อนได้ ส่วนพนักงานที่มีตำแหน่งตั้งแต่ชั้นประจำแผนกหรือเทียบเท่าลงมา จะต้องชำระค่าระวางเป็นเงินสดแล้วขอเบิกคืนตามจำนวนน้ำหนักที่ได้รับอนุมัติให้ยกเว้น
เห็นว่า การที่คำสั่งฉบับนี้กำหนดว่า พนักงานของจำเลยต้องชำระค่าระวางสิ่งของที่นำไปกับขบวนรถเสียก่อนแล้วไปขอเบิกคืนทีหลังนั้น ก็เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่ามีผู้นำสิ่งของขึ้นไปกับขบวนรถเกินกว่าน้ำหนักที่กำหนดให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าระวางในแต่ละเดือนเป็นน้ำหนักเท่าใด เพราะค่าระวางส่วนที่เกินนี้ไม่สามารถเบิกคืนได้ การที่โจทก์นำสิ่งของน้ำหนัก 34 กิโลกรัมขึ้นไปกับขบวนรถโดยมิได้เสียค่าระวาง ย่อมทำให้จำเลยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าโจทก์ได้นำสิ่งของขึ้นไปกับขบวนรถเกินกว่าน้ำหนักที่กำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าระวางในแต่ละเดือนเท่าใดจำเลยจึงเสียหายต้องขาดรายได้จากค่าระวางในส่วนที่เกินกำหนดให้ได้รับยกเว้น ส่วนโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ไม่ต้องเสียค่าระวางในส่วนที่เกินกำหนดดังกล่าว การกระทำของโจทก์จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยจึงมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้…”
พิพากษายืน.

Share