คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ไม่ริบไม้ของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ริบไม้ของกลาง ฟ้องโจทก์อ้าง พระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 73 แก้ไขฉบับที่ 4 วรรคแรก ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาทศาลชั้นต้นพิพากษาอ่านวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522 โจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่8 มีนาคม 2522 เป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ต่อมาพระราชบัญญัติป่าไม้ แก้ไขโทษสูงขึ้นระหว่างอุทธรณ์ ก็ยังต้องใช้ระวางโทษเบาที่เป็นคุณตามเดิม ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยไม่ได้ต้องยกอุทธรณ์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและไม่ริบไม้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ริบไม้ของกลาง จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้ โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยมีไม้แปรรูปคือ ไม้พันชาดและไม้ตะเคียนหิน ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามบัญชีที่ 1 ประเภท ก. จำนวนรวม 0.86 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 17 ซึ่งมาตรา 73 วรรคแรก แห่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดโทษไว้ว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยครอบครองไม้ของกลางไม่มีรอยตราประทับ แต่ไม้ของกลางเป็นไม้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว จำเลยไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์และไม่ริบไม้ของกลางโดยอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ลงวันที่ 8 มีนาคม 2522 ว่าพยานโจทก์ที่นำสืบได้ความชัดแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบไม้ของกลางซึ่งไม่มีรอยตราของเจ้าหน้าที่ประทับปะปนอยู่กับไม้อื่น แม้จำเลยมีใบอนุญาตให้มีและเคลื่อนย้ายไม้ก็คุ้มครองได้เฉพาะไม้ที่มีรอยตราของพนักงานป่าไม้เท่านั้น แม้พระราชบัญญัติป่าไม้จะไม่ได้บัญญัติให้แน่นอนลงไปว่า ไม้หวงห้ามที่ไม่มีรอยตราของเจ้าพนักงานป่าไม้ เป็นไม้ที่มีไว้ในครอบครองไม่ได้หรือเมื่อได้รับอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองแล้วจะต้องมีรอยตราประทับ แต่ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ประทับรอยตราตามระเบียบของทางราชการแล้วจะเอาอะไรเป็นหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ตรวจควบคุมให้ผู้ที่มีไว้ในครอบครองแสดงหลักฐานได้ เป็นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ แม้ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 ให้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2522 ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ กำหนดโทษฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มีโทษหนักกว่าและแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด ก็ต้องใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ไม่เป็นเหตุทำให้คดีที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินสามปีหรือปรับเกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์และพิพากษาริบไม้ของกลางไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ฎีกาจำเลยทั้งในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 225 และมาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”

Share