คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธนาคารจำเลยที่ 1 จ่ายเงินตามเช็คจำนวน 16 ฉบับ เป็นการจ่ายเงินฝากของโจทก์ส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นการจ่ายเงินตามข้อตกลงตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็ได้นำจำนวนเงินตามเช็คพิพาทไปหักทอนบัญชีกระแสรายวันของโจทก์โดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถูกต้องแล้ว และเมื่อโจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับสัญญาบัญชีกระแสรายวันและแจ้งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 สมุห์บัญชีธนาคารจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนรายการเช็คพิพาทที่นำมาลงบัญชีกระแสรายวันของโจทก์โดยไม่ถูกต้องออกเสีย แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็มิได้ปฏิบัติตามและยังคงถือว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 ตามรายการที่ลงในบัญชีกระแสรายวัน ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ผลการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจซึ่ง ส.ผู้เชี่ยวชาญของศาลเป็นผู้ตรวจพิสูจน์โดยเปรียบเทียบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทกับลายมือชื่อตัวอย่างของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 และลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็คแล้ว ส.มีความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน แม้ ส.จะมิได้มาเบิกความประกอบ รายงานการตรวจพิสูจน์ก็รับฟังได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 130
ลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมิใช่ลายมือชื่อของโจทก์และเป็นลายมือชื่อปลอม การที่จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจการธนาคารซึ่งเป็นธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การรับฝากเงินและการจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินจากธนาคารเป็นธุรกิจส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ และโดยที่จำเลยที่ 3 เป็นสมุห์บัญชีลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของข้อความในเช็คและลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คที่นำมาขอเบิกเงินจากธนาคารของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของลูกค้าผู้สั่งจ่ายหรือไม่ ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งจำเลยที่ 3 จะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเพราะเป็นงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ การที่จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 จ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 กับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลยที่ 1 ยิ่งกว่านั้นลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทก็มีลักษณะแตกต่างกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งหากได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่โดยละเอียดรอบคอบจะต้องทราบว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเป็นลายมือชื่อปลอม การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวังในฐานะที่จำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท อันเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 และมาตรา 425
โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เพิกถอนรายการที่ไม่ถูกต้อง ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เพิกถอนรายการตามใบแจ้งรายการบัญชีโดยให้ถือว่ามิได้มีการเบิกถอนเงินตามเช็คพิพาทและงดคิดดอกเบี้ยตามเช็คดังกล่าว หรือมิฉะนั้นให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันนำเงินจำนวน 625,365 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยซึ่งคิดเอาจากบัญชีของโจทก์ส่งคืนบัญชีโจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามกฎหมาย และให้จำเลยที่ 1 หักทอนบัญชีเพื่อจะทราบว่ามียอดหนี้ค้างชำระกันในขณะนี้เป็นจำนวนเท่าใด แต่จำเลยที่ 1และที่ 3 ไม่ยอมที่จะเพิกถอนรายการตามใบแจ้งรายการบัญชีโดยให้ถือว่ามิได้มีการเบิกถอนเงินตามเช็คพิพาท และงดคิดดอกเบี้ยตามเช็คดังที่โจทก์เรียกร้องและโจทก์ได้เลือกฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 คิดเอาจากโจทก์โดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงเท่ากับโจทก์ยอมรับยอดเงินตามรายการในบัญชีเดินสะพัดที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเอาจากโจทก์และฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นตัวเงินเอาจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งโจทก์ชอบที่จะเลือกได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องรับผิดในการกระทำละเมิดต่อโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ยอมเพิกถอนรายการในบัญชีเดินสะพัดเช่นนี้ จึงชอบที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์เลือก จำเลยที่ 1 และที่ 3จึงต้องร่วมกันชำระเงินจำนวน 625,365 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 คิดเอาจากบัญชีของโจทก์คืน อันถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้แก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 438 ซึ่งจำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 คิดเอาจากโจทก์เป็นจำนวน 16,170.94 บาทโจทก์ก็ชอบที่จะได้รับชดใช้คืนเป็นค่าเสียหายด้วย สำหรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ก็เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ โดยเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งที่โจทก์ได้รับเนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 คิดดอกเบี้ยเอาจากโจทก์

Share