คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลย (บิดา) และให้เด็กอยู่กับโจทก์ (มารดา) โดยให้จำเลยส่งค่าเลี้ยงดูเด็กจนเด็กอายุครบ 20 ปี ถือได้ว่าศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่แก่มารดา ตามมาตรา 1538(6) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าเด็กชายอุดมเป็นบุตรจำเลย และให้จำเลยส่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายอุดม ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ศาลเห็นว่าขณะนี้เด็กชายอุดมยังเล็กอยู่ ควรได้อยู่กับโจทก์ซึ่งเป็นมารดามากกว่าให้ไปอยู่กับจำเลย และพิพากษาว่า เด็กชายอุดมเป็นบุตรของจำเลย ให้จำเลยส่งค่าเลี้ยงดูเด็กชายอุดมเดือนละ ๒๐๐ บาท จนอายุ ๑๐ ปี ต่อจากนั้นให้ส่งเดือนละ ๓๐๐ บาทจนเด็กชายอุดมอายุครบ ๒๐ ปี คดีถึงที่สุด
ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องในคดีนี้ว่า โจทก์ไม่เอาใจใส่เลี้ยงดูและให้การศึกษาเด็กชายอุดม ขอรับตัวเด็กชายอุดมมาอยู่กับจำเลย
โจทก์คัดค้านว่าได้ดูแลให้การศึกษาเด็กชายอุดมอย่างดีแล้ว
ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งว่า ที่ศาลได้พิพากษาให้เด็กชายอุดมอยู่กับโจทก์นั้น เพราะเห็นว่าขณะนั้นเด็กชายอุดมยังเล็กอยู่ การพิพากษาเช่นนั้นไม่ได้หมายความว่าให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง และสั่งให้โจทก์ส่งเด็กชายอุดมให้จำเลย กับเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยส่งค่าเลี้ยงดูเสีย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำพิพากษา (เดิม) ของศาลชั้นต้น พึงอนุมานได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งให้อำนาจปกครองเด็กชายอุดมอยู่กับโจทก์ เมื่อจำเลยยังไม่ได้ขอให้ถอนอำนาจปกครองของโจทก์เสียก่อน จะขอรับเด็กชายอุดมไปไม่ได้ พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้สั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับโจทก์ตามมาตรา ๑๕๓๘(๖) แล้ว ซึ่งจำเลยจะต้องขอถอนอำนาจปกครองของโจทก์เสียก่อนตามมาตรา ๑๕๕๒ พิพากษายืน.

Share