แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสมาคม ศ. เป็นการกระทำต่อสมาคม ศ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลมิได้กระทำต่อโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นคณะกรรมการของสมาคม ศ. เป็นส่วนตัว และเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะนายทะเบียนสมาคมจังหวัดมีประกาศขีดชื่อสมาคม ศ. ออกจากทะเบียนสมาคมแล้ว อันเป็นเหตุให้สมาคม ศ. ต้อง เลิกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1292(7) ไม่ได้เป็นนิติบุคคลอีกต่อไป โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นกรรมการของสมาคม ศ. ในขณะนั้นจึงต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการของสมาคม ศ. ไปด้วย ไม่มีอำนาจหน้าที่หรือความสัมพันธ์ใด ๆ เกี่ยวข้องกันอีก แม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะได้ บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับการดูหมิ่น เหยียดหยามจากบุคคลอื่น และอาจถูกสมาชิกของสมาคม ศ. เรียกร้องค่าเสียหายได้นั้น ก็เป็นความรู้สึกและคาดคิดส่วนตัวของโจทก์ทั้งเจ็ดเองถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหายเนื่องจากการออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยอันจะมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๕ ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕, ๙, ๑๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องจำเลยที่ ๑ เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ส่วนจำเลยที่ ๒ พิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณืพิพากษายืน
โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒(๔) หรือไม่ เห็นว่า สมาคมศาสนาสัมพันธ์ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งจากอธิบดีกรมการศาสนาตามใบอนุญาตเลขที่ ต.๒๑๕/๒๕๑๘ ลงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๑๘ และสมาคมศาสนาสัมพันธ์ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๘ ทะเบียนเลขที่ ๑๓๓๗ สมาคมศาสนาสัมพันธ์จึงเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๘๒ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่ ๕๒๐/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๔ เพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมศาสนาสัมพันธ์ เลขที่ ต.๒๑๕/๒๕๒๘ ลงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๑๘ ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำต่อสมาคมศาสนาสัมพันธ์ซึ่งเป็นนิติบุคคลมิได้กระทำต่อโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นส่วนตัว และเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีในฐานะนายทะเบียนสมาคมจังหวัดราชบุรี มีประกาศจังหวัดราชบุรีขีดขื่อสมาคมศาสนาสัมพันธ์ออกจากทะเบียนสมาคมตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ อันเป็นเหตุให้สมาคมศาสนาสัมพันธ์ต้องเลิกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๒ (๗) ไม่ได้เป็นนิติบุคคลอีกต่อไป โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นกรรมการของสมาคมศาสนาสัมพันธ์ในขณะนั้นจึงต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการของสมาคมศาสนาสัมพันธ์ไปด้วย ไม่มีอำนาจหน้าที่หรือความสัมพันธ์ใด ๆ เกี่ยวข้องกันอีก แม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ได้รับความอับอาย ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยามจากบุคคลอื่นโดยเฉพาะระดับผู้นำของประเทศที่ตอบรับเชิญเข้าร่วมประชุม ทำให้เสียเกียรติภูมิของโจทก์ทั้งเจ็ด และอาจถูกสมาชิกของสมาคมศาสนาสัมพันธ์เรียกร้องค่าเสียหายได้นั้น ก็เป็นความรู้สึกและคาดคิดส่วนตัวของโจทก์ทั้งเจ็ดเอง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหาย เนื่องจากการออกคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยอันจะมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งเจ็ดต่อไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดมานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน.