คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2096/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะเลือกลงโทษจำคุกแก่จำเลยแต่เพียงสถานเพียงได้และเมื่อศาลใช้ดุลพินิจเลือกที่จะลงโทษจำคุกจำเลยแต่เพียงสถานเดียวแล้ว ศาลย่อมนำบทบัญญัติมาตรา 56 ว่าด้วยการรอการลงโทษมาปรับใช้ได้อีก ดังนั้น ศาลจึงลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62, 106
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62(ที่ถูกมาตรา 62 วรรคหนึ่ง), 106 (ที่ถูกมาตรา 106 วรรคหนึ่ง)ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดมาก่อนเห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อกฎหมายว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 102 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง100,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกเพียงอย่างเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20 แล้วใช้ดุลพินิจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ให้รอการลงโทษจำคุกโดยไม่ปรับด้วยเป็นการไม่ชอบโดยโจทก์ฎีกาว่า ความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20 ให้ศาลใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรว่าจะลงแต่โทษจำคุกโดยไม่ปรับด้วยก็ได้ หมายความว่าจะต้องเป็นการลงโทษจำคุกจริง ๆ จึงไม่ต้องลงโทษปรับด้วย การที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแต่ให้รอการลงโทษไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 เป็นเพียงคำพิพากษาที่กำหนดโทษผู้กระทำผิดเท่านั้นมิใช่คำพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 20 นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 20 บัญญัติว่า “บรรดาความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับด้วยนั้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะลงแต่โทษจำคุกก็ได้”บทบัญญัติมาตรานี้มีความหมายว่าในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับด้วยนั้น ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียว โดยไม่ลงโทษปรับด้วยได้ และหากกรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 แล้วศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยได้อีกด้วยมิได้หมายความว่าหากศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับแล้ว ศาลต้องลงโทษจำคุกจำเลยไปทีเดียวจะรอการลงโทษไม่ได้ดังที่โจทก์ฎีกา ทั้งนี้ เป็นที่เห็นได้ว่ามาตรา 20 เป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะเลือกโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยแต่เพียงสถานเดียวได้ และเมื่อศาลใช้ดุลพินิจเลือกที่จะลงโทษจำคุกจำเลยแต่เพียงสถานเดียวแล้ว ศาลย่อมนำบทบัญญัติมาตรา 56 ว่าด้วยการรอการลงโทษมาปรับใช้ได้อีกดังถ้อยคำในมาตรา 56 ที่กล่าวว่า “และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ก็ได้” ดังนั้นการที่ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 20 และมาตรา 56 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share