คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2095/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยสั่งจ่ายเช็คเบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยแต่เจ้าหน้าที่ธนาคารโจทก์พลั้งเผลอนำเช็คไปหักทอนบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่น เมื่อโจทก์ทราบข้อผิดพลาด แม้เป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยขอปิดบัญชีแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิแก้ไขให้ถูกต้อง โดยนำเช็คฉบับนั้นไปหักทอนจากบัญชีของจำเลยตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลย เมื่อโจทก์ปรับปรุงบัญชีใหม่แล้ว จำเลยเป็นหนี้โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้หนี้ดังกล่าวแม้โจทก์จะยอมให้จำเลยไถ่ถอนจำนองและปิดบัญชีกระแสรายวันของจำเลยแล้วก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับธนาคารโจทก์สาขาแม่สอด โดยเปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี กับโจทก์ในวงเงิน 150,000 บาท ดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละสิบสี่ต่อปี จำเลยเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมาจนวันที่7 มิถุนายน 2531 จำเลยสั่งจ่ายเช็คเบิกเงิน 577,180 บาทจากบัญชีของจำเลยแต่ด้วยความผิดพลาด เจ้าหน้าที่ของโจทก์นำเช็คของจำเลยไปหักทอนจากบัญชีของบริษัทซิงเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัดสาขาแม่สอด ต่อมาบริษัทซิงเกอร์ (ประเทศไทย)จำกัด ทักท้วงโจทก์จึงคืนเงิน 577,180 บาท พร้อมดอกเบี้ย 58,350.53 บาท ให้แก่บริษัทซิงเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และได้ทำการปรับปรุงบัญชีของจำเลยซึ่งปิดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2531 ใหม่ โดยนำเช็คของจำเลยไปทำการหักทอนในบัญชีของจำเลยให้ถูกต้องตรงกับความจริงซึ่งปรากฏว่าในวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 จำเลยยังมีหนี้ค้างชำระโจทก์582,586.19 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละสิบสี่ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2531 จนถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ย 128,264.73 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน710,850.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบสี่ต่อปี ของต้นเงิน582,586.19 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนและโจทก์ปลดจำนองให้จำเลยตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2531 หลังจากนั้นสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างจำเลยกับโจทก์สิ้นสุดลงเพราะหนี้ระงับไปโจทก์ปรับปรุงรายการบัญชีของจำเลยขึ้นใหม่โดยจำเลยไม่สมัครใจโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ และไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่สิ้นสุดสัญญาบัญชีเดินสะพัดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 577,180 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์582,586.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบสี่ต่อปีของเงินต้นดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทตามฟ้องฎีกาของโจทก์มีจำนวนไม่เกินสองแสนบาทโจทก์จึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ได้มีการนำเช็คตามเอกสารหมาย จ.7 ที่จำเลยสั่งจ่ายจำนวนเงิน577,180 บาท ไปหักทอนจากบัญชีของบริษัทซิงเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัดสาขาแม่สอด เพราะความผิดพลาดของพนักงานโจทก์แล้ววินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์ทราบข้อผิดพลาดที่ไม่ได้นำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไปหักทอนจากบัญชีของจำเลย แม้จะเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยขอปิดบัญชีแล้วก็ตามโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะแก้ไขให้ถูกต้องโดยนำเช็คตามเอกสารหมาย จ.7ไปหักทอนจากบัญชีของจำเลยตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดได้โดยโจทก์ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยเสียก่อน และเมื่อโจทก์ปรับปรุงบัญชีกระแสรายวันของจำเลยถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยขอปิดบัญชี จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด700,587.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันดังกล่าวอีก 3,345.03 บาทจำนวนหนี้ดังกล่าวคือจำนวนคงเหลือโดยดุลภาคที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดในวันที่จำเลยขอปิดบัญชี จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 121,346.15 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์อีก 582,586.19 บาท แม้โจทก์จะยอมให้จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินและปิดบัญชีกระแสรายวันของจำเลยแล้ว ก็ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดในอันที่จะต้องชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์และการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เพื่อให้จำเลยชำระหนี้ก็หาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
พิพากษายืน ส่วนฎีกาของโจทก์ให้ยก

Share