แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า นั้นการเรียกร้องขอคืนเงินอากรที่เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงแม้จะต้องเรียกร้องภายในกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก แต่ผู้นำของเข้าหรือส่งของออกก็ต้องแจ้งความไว้ก่อนว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนเงินอากรที่เสียไว้เกินประการหนึ่งหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนว่าเงินอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียอีกประการหนึ่ง ดังนี้ เมื่อตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เชื่อได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบสินค้าให้โจทก์รับไปว่าเงินอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสีย จำเลยก็ต้องคืนเงินอากรส่วนที่ชำระไว้เกินแก่โจทก์.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้สั่งสินค้าประเภทเหล็กแผ่นเป็นสังกะสีชนิดแผ่นเรียบและชนิดแผ่นม้วนรวม 2 ชนิด จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยโดยโจทก์สำแดงรายการสินค้าในใบขนสินค้าขาเข้าและแสดงแบบรายการการค้าเพื่อชำระภาษีอากรสังกะสีทั้งสองชนิดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 73.13A และชำระภาษีอากรไปทั้งสิ้น 299,670.28 บาท ความจริงสินค้าสังกะสีชนิดแผ่นม้วนจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 73.12 ซึ่งอัตราอากรขาเข้าที่จะต้องชำระน้อยกว่าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 73.13A ทั้งนี้เพราะความพลั้งเผลอ หากโจทก์ชำระภาษีอากรโดยถูกต้องตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ คงเป็นเงินค่าภาษีอากรทั้งสิ้น158,298.97 บาท การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่ท้วงติงหรือบอกกล่าวข้อผิดพลาดจึงเป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระภาษีอากรให้แก่จำเลยเกินเป็นเงิน 141,371.31 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 141,371.31 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่แสดงความแตกต่างของสินค้าทั้งสองชนิดในใบขนสินค้าที่โจทก์สำแดงต่อจำเลย และยังรับรองชนิดสินค้าทั้งสองว่าเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีอากรในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 73.13A พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่รู้ก่อนส่งมอบสินค้าแก่โจทก์ว่าภาษีอากรที่โจทก์ชำระไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบ สิทธิในการขอคืนของโจทก์สิ้นไปแล้วเพราะโจทก์ไม่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบว่าจะยื่นคำเรียกร้อง และไม่ใช่กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบว่าภาษีอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนพึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรจำนวน 141,371.31 บาท โจทก์ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยคืนเงินให้ 141,371.31 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…พิเคราะห์แล้วตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 (พ.ศ. 2515) บัญญัติไว้ว่า ‘สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเฉพาะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี แต่คำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาณ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใดๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใดๆ นั้น มิให้รับพิจารณาหลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้นๆ ได้ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าว หรือในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออก’ จะเห็นได้ว่าในการเรียกร้องขอคืนอากรที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงแม้จะเรียกร้องได้ภายในกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออกก็ตาม แต่พนักงานเจ้าหน้าที่จะรับพิจารณาคำเรียกร้องดังกล่าวก็ต่อเมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรที่ชำระไว้เกินประการหนึ่งหรืออีกประการหนึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่า อากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออก ในกรณีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์หรือตัวแทนของโจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบสินค้าสังกะสีที่โจทก์นำเข้ามาว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรที่ชำระไว้เกิน ดังนั้นคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบของให้โจทก์หรือตัวแทนของโจทก์รับไปว่าอากรที่โจทก์ได้ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่โจทก์พึงต้องเสียหรือไม่ เห็นว่าตามใบขนสินค้าขาเข้า เอกสารหมาย จ.5 หรือล.1 โจทก์ได้สำแดงรายการสังกะสีชนิดแผ่นเรียบกับชนิดแผ่นม้วนไว้ต่างหากจากกันอย่างชัดแจ้งถึงแม้ว่าโจทก์จะสำแดงไว้เพียงว่ารายการที่ 1 และที่ 2 เป็นเหล็กแผ่นสังกะสีขนาดความกว้างเกิน 500 มิลลิเมตร ความหนาไม่เกิน 125 มิลลิเมตร โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดความกว้างและความหนาของสังกะสีแต่ละชนิดไว้โดยชัดเจนก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้เขียนข้อความภายในวงเล็บระบุไว้ว่า ‘รายละเอียดตามอินวอยซ์และแพคกิ้งลิส’ และคำนายสุธน บัวสรวง พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินอากร 5 กองพิธีการและประเมินอากรของจำเลย ซึ่งเป็นผู้ประเมินอากรสินค้าของโจทก์รายพิพาทนี้ กับนายสมดี อุตสระครู พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินอากร 6 ของจำเลยและเป็นหัวหน้าหน่วยงานของนายสุธนที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ได้ความว่า การทำใบขนสินค้าขาเข้า เอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.1 ต้องทำรายการให้ตรงกับบัญชีราคาสินค้า(อินวอยซ์) เอกสารหมาย จ.3หรือ ล.2 โดยยึดถือเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.2 เป็นหลัก ซึ่งนายสุรพล งามวิไลรัตน์ พยานจำเลยขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งสารวัตรศุลกากร 6 มีหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าและเป็นผู้ตรวจปล่อยสินค้ารายพิพาทนี้กับนายประสิทธิ์ โรจนสุนทร พยานจำเลย ขณะเกิดเหตุนี้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยตรวจสอบคืนอากร กองคืนอากรก็ได้เบิกความเจือสมกับพยานโจทก์ดังกล่าว และยังได้ความจาก นายสุธน พยานโจทก์กับนายประสิทธิ์พยานจำเลยต่อไปว่า ถ้าผู้นำเข้าสำแดงชื่อชนิดสินค้า และพิกัดอัตราศุลกากรในใบขนสินค้าขาเข้า เอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.1 ไม่ตรงกับบัญชีราคาสินค้า(อินวอยซ์) เอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.2 พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องตามบัญชีราคาสินค้า เอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.2นอกจากนี้นายประสิทธิ์พยานจำเลยยังเบิกความยืนยันว่า โดยหน้าที่ของนายสุธนเมื่อได้ดูบัญชีราคาสินค้า (อินวอยซ์)เอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.2 แล้วจะต้องตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.1 เพื่อดูว่าใบขนสินค้านั้นได้สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรที่จะเสียภาษีไว้ถูกต้องตรงตามบัญชีราคาสินค้า(อินวอยซ์) เอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.2 หรือไม่ และก่อนที่จะสั่งให้ผู้นำเข้าเสียภาษีอากร พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินจะต้องรู้ว่าสินค้าที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้า(อินวอยซ์) เอกสารหมายจ.3 หรือ ล.2 จะต้องเสียอากรในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่เท่าใดเช่นนี้แสดงว่า นายสุธนพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินอากรมีหน้าที่ต้องตรวจดูรายละเอียดในใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมาย จ.5หรือ ล.1 กับบัญชีราคาสินค้า (อินวอยซ์) เอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.2และใบรายการสินค้าที่บรรจุหรือแพคกิ้งลิส เอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นเอกสารประกอบที่ยื่นมาพร้อมกับใบขนสินค้าขาเข้า เอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.1 ว่าตรงกันหรือไม่ และสินค้านั้นจะต้องเสียอากรขาเข้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่เท่าใด ฉะนั้นแม้ว่าในใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.1 จะระบุไว้ว่า รายการที่1 และที่ 2 เป็นเหล็กแผ่นเรียบชุบสังกะสี ขนาดความกว้างเกิน 500มิลลิเมตร หนาไม่เกิน 125 มิลลิเมตร ก็ดี แต่เมื่อตรวจสอบกับบัญชีราคาสินค้า (อินวอยซ์) เอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.2 ก็ต้องรู้ได้ทันทีว่า สังกะสีที่โจทก์นำเข้ามาสองชนิดมีความแตกต่างกันมาก และชนิดที่สองไม่ตรงกับข้อความที่โจทก์ได้ระบุไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า เอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.1 ดังกล่าว เพราะตามบัญชีราคาสินค้า (อินวอยซ์) เอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.2 และใบรายการสินค้าที่บรรจุหรือแพคกิ้งลิส เอกสารหมาย จ.4 ได้ระบุความกว้างและความหนาของสังกะสีที่โจทก์นำเข้ามาไว้อย่างชัดเจนโดยสังกะสีชนิดที่สองมีความหนา 0.55 มิลลิเมตร และ 0.80 มิลลิเมตรส่วนความกว้างเพียง 447 กับ 423 มิลลิเมตร เห็นได้ชัดว่ามีความกว้างไม่เกิน 500 มิลลิเมตรซึ่งแตกต่างกับสังกะสีชนิดที่หนึ่งที่มีความหนา 0.241 มิลลิเมตร และ 0.261 มิลลิเมตร แต่มีความกว้างถึง 3 ฟุต สำหรับสังกะสีชนิดที่สองซึ่งมีความกว้างไม่เกิน 500 มิลลิเมตร นายสุธนพยานโจทก์ที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินอากรของจำเลยได้ยืนยันว่าจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 73.12 ซึ่งเสียอากรขาเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าสังกะสีชนิดที่หนึ่งที่จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 73.13A และนายสุรพลสารวัตรศุลกากรที่สุ่มตัวอย่างสินค้าของโจทก์เปิดออกตรวจ และบันทึกไว้ด้านหลังของใบขนสินค้าขาเข้า เอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.1 ก็เห็นได้ชัดว่าสังกะสีชนิดแผ่นม้วนมีความกว้างไม่เกิน 500 มิลลิเมตร ซึ่งแตกต่างจากที่โจทก์สำแดงไว้ด้านหลังของใบขนสินค้าขาเข้า ตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่า นายสุธนพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินอากรผู้ทำการตรวจใบขนสินค้าขาเข้า และประเมินอากร สินค้าของโจทก์ นายสมดีพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินอากรซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนายสุธนและเป็นผู้สั่งให้เปิดตรวจสินค้าของโจทก์ และนายสุรพลสารวัตรศุลกากร ผู้เปิดตรวจสินค้าของโจทก์พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบสินค้าให้โจทก์รับไปแล้วว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่โจทก์พึงต้องเสียสำหรับสินค้าที่ส่งมอบนั้น ดังนั้นจำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีอากรส่วนที่โจทก์ชำระไว้เกินเป็นเงิน 141,371.31บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2526 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ…’
พิพากษายืน.