คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2092-2093/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้พิพากษาคดีไปตามยอม ให้โจทก์จำเลยตกลงการเช่ากันใหม่เมื่อครบกำหนดตามสัญญา แต่โจทก์จำเลยตกลงกันไม่ได้ โจทก์ไม่ผิดสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งให้โจทก์ต้องให้จำเลยเช่าต่อไป

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองสำนวนพร้อมด้วยบริวารออกจากห้องพิพาท ให้ใช้ค่าเสียหายสำนวนละ 28,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายเดือนต่อไปเดือนละ 600 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนเดือนละ 600 บาทนับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2517 ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2521 พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์จำเลยได้ทำกันไว้เป็นคำมั่นจะให้เช่า และก่อนครบกำหนด 12 ปีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองได้แสดงความจำนงขอเช่าไปยังโจทก์แล้ว และทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ศาลได้พิพากษาคดีไปตามยอมแล้ว โจทก์จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติไปตามคำพิพากษาของศาลคือโจทก์ต้องมีหน้าที่ให้จำเลยเช่าต่อไปแต่โจทก์กลับไม่ให้จำเลยเช่าและใช้สิทธิฟ้องจำเลย เป็นการผิดสัญญา จำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องโจทก์ได้ การที่ศาลยกฟ้องแย้งจำเลยจึงไม่ชอบ

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทั้งสองอ้างมีข้อความดังนี้

ข้อ 1. จำเลย (หมายถึงโจทก์คดีนี้) ยอมให้โจทก์ (หมายถึงจำเลยคดีนี้)ทุกสำนวนมีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทกันแต่ละสำนวนนั้นต่อไปโดยเสียค่าเช่าในอัตราเดิม เป็นระยะเวลา 12ปีครึ่ง นับแต่วันนี้เป็นต้นไป

ข้อ 2 โจกท์ (หมายถึงจำเลยคดีนี้) หรือผู้รับมอบมรดกของโจทก์แต่ละสำนวนมีสิทธิที่จะโอนการเช่าตึกพิพาทไปยังบุคคลอื่นได้ภายในระยะเวลาตามข้อ 1 โดยในการโอนนั้นจะต้องให้เงินแก่จำเลย (หมายถึงโจทก์คดีนี้) ร้อยละ 10 ของยอดสุทธิเงินที่ได้จากการโอนนั้น

ข้อ 3. เมื่อครบกำหนดตามข้อ 1 แล้ว โจทก์ (หมายถึงจำเลยคดีนี้) มีสิทธิจะขอเช่าอยู่ต่อไปได้ก่อนผู้ขอเช่าคนอื่นโดยจะต้องเสียค่าเช่าแก่จำเลย (หมายถึงโจทก์คดีนี้) ตามอัตราท้องตลาดที่ผู้อื่นเช่าทั่วไปในขณะนั้น

ข้อ 4. กำหนดระยะเวลาข้อ 1 นั้น หากโจทก์ (หมายถึงจำเลยคดีนี้) ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าแก่จำเลย 3 คราวติด ๆ กัน ให้ถือว่าข้อสัญญานั้นเป็นอันเลิกกัน

ข้อ 5. ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเป็นอันพับกันไป ข้อเรียกร้องของโจทก์ (จำเลยคดีนี้) ตามคำขอท้ายฟ้องอื่น ๆ โจทก์ไม่ติดใจต่อไป

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 ซึ่งมีข้อความว่าเมื่อครบกำหนดตามข้อ 1 แล้วโจทก์ (หมายถึงจำเลย) มีสิทธิที่จะขอเช่าอยู่ต่อไปก่อนผู้ขอเช่าคนอื่นโดยจะต้องเสียค่าเช่าแก่จำเลย (คือโจทก์คดีนี้) ตามอัตราท้องตลาดที่ผู้อื่นเช่าทั่วไปในขณะนั้นนั้น เป็นเพียงข้อตกลงที่ให้โอกาสผู้เช่าทำการต่อสัญญาได้เท่านั้น ทั้งนี้โดยโจทก์จำเลยจะต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่ กำหนดเวลาเช่าใหม่ และกำหนดอัตราค่าเช่ากันใหม่ตามอัตราท้องตลาดในขณะนั้น ข้อตกลงที่โจทก์ให้โอกาสจำเลยดังกล่าว จึงมิใช่เป็นคำมั่นจะให้เช่าของโจทก์ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าก่อนครบกำหนด 12 ปีครึ่งตามข้อตกลง จำเลยทั้งสองได้แสดง ความจำนงขอเช่าตึกแถวห้องพิพาทไปยังโจทก์แต่โจทก์ไม่ยอมรับเนื่องจากจำเลยเสนอให้ค่าเช่าแก่โจทก์น้อยไปไม่ใช่เป็นอัตราท้องตลาดที่ผู้อื่นเช่าทั่วไป โจทก์กับจำเลยจึงไม่สามารถทำความตกลงกันได้ ฉะนั้น การเช่าใหม่ระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่เกิดขึ้น ที่จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่าสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ศาลได้พิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ คือโจทก์ต้องให้จำเลยเช่าต่อไป ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้พิพากษาคดีไปตามยอมให้โจทก์จำเลยตกลงการเช่ากันใหม่แต่โจทก์จำเลยตกลงกันไม่ได้ โจทก์ไม่ผิดสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งสัญญาเช่าตึกแถวห้องพิพาทมีกำหนด 12 ปีครึ่ง นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2504 จึงครบกำหนดการเช่าวันที่ 3 มิถุนายน 2517 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตร 564 และต่อมาโจทก์ได้บอกเลิกข้อตกลงในเรื่องการเช่ากับจำเลยอีกแล้ว จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในตึกพิพาทฐานละเมิดตั้งแต่วันครบกำหนดตามคำบอกกล่าวของโจทก์เป็นต้นมา โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย”

พิพากษายืน

Share