คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2089/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยแบบของสัญญาเช่าซื้อบัญญัติไว้เพียงว่า “สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ” เมื่อปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นโดยมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เช่า และมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในช่องเจ้าของ ถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นเป็นหนังสือตามแบบที่บัญญัติไว้แล้ว จึงมีผลผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามนั้น ส่วนการปิดอากรแสตมป์ในตราสารตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร ก็เป็นเรื่องของการเรียกเก็บอากรอันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกต่างหาก ทั้งการไม่ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ก็มีผลเพียงไม่อาจอ้างตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น มิใช่ว่าสัญญาที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์จะตกเป็นโมฆะไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์ ในราคา 986,112 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวด งวดละ 20,544 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 5 มิถุนายน 2545 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 12 ประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2546 โดยในงวดดังกล่าวชำระให้เพียงบางส่วนจำนวน 614 บาท ต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์คันที่ให้เช่าซื้อออกให้เช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2546 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 เดือน เป็นเงิน 75,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 759,514 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและร่วมกันชำระเงินค่าขาดประโยชน์ 75,000 บาท กับค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคา
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆะเนื่องจากมิได้มีการปิดอากรแสตมป์ในขณะที่ทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 680,000 บาท ให้ร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์จำนวน 20,000 บาท และค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือใช้ราคา แต่ไม่เกิน 18 เดือน กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เพราะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการแรกว่า การที่โจทก์ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ทันทีในขณะทำสัญญาเช่าซื้อเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อสัญญายังมิได้ปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วน สัญญาเช่าซื้อจึงตกเป็นโมฆะ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยแบบของสัญญาเช่าซื้อได้บัญญัติไว้เพียงว่า “สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ” ดังนั้นเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า สัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นโดยมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เช่า และมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในช่องเจ้าของ ก็ถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นเป็นหนังสือตามแบบที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัติมาตราดังกล่าวแล้ว จึงย่อมมีผลผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามนั้น ส่วนการปิดอากรแสตมป์ในตราสารตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรก็เป็นเรื่องของการเรียกเก็บอากรอันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกต่างหาก ทั้งการไม่ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ก็มีผลเพียงไม่อาจอ้างตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น มิใช่ว่าสัญญาที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์จะตกเป็นโมฆะตามที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าใช้ราคาแทนให้โจทก์เพียงใด จำเลยที่ 2 ฎีกาว่ รถคันที่เช่าซื้อเป็นรถยนต์เก่าที่ผ่านการใช้งานมาเกินกว่า 1 ปีแล้ว มีราคาตามท้องตลาดไม่เกิน 500,000 บาท ที่ศาลล่างกำหนดค่าใช้ราคาแทนให้เป็นเงินจำนวน 680,000 บาท นั้นสูงเกินไป เห็นว่า แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุว่า รถคันที่ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อโจทก์ใช้เงินลงทุนรวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 853,000 บาท ก็ตาม แต่เมื่อค่าใช้ราคาแทนเป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่ง ศาลฎีกาจึงมีดุลพินิจที่จะกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ไปแล้ว 11 งวด รวมเป็นเงินประมาณ 226,000 บาท และศาลล่างทั้งสองได้กำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์จำนวน 20,000 บาท กับค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคา แต่ไม่เกิน 18 เดือน ซึ่งเมื่อพิเคราะห์จำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้แก่โจทก์ไปแล้ว ประกอบกับค่าขาดประโยชน์ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์ เห็นสมควรกำหนดค่าใช้ราคาแทนให้เป็นเงินจำนวน 600,000 บาท ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า รถคันที่เช่าซื้อมีราคาตามท้องตลาดไม่เกิน 500,000 บาท นั้น จำเลยที่ 2 ไม่มีข้อเท็จจริงใดมานำสืบสนับสนุนจึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 600,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share