แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าเป็นพี่ผู้ตายขอให้พิพากษาว่าที่ดินที่ผู้ตายครอบครองอยู่เป็นมรดกที่โจทก์มีสิทธิได้รับจำเลยไม่มีสิทธิรับมรดกห้ามเกี่ยวข้องจำเลยให้การว่าเป็นบุตรผู้ตายได้ยื่นเรื่องราวขอรับมรดกผู้ตายการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วนั้นจึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกคำให้การนอกประเด็นแต่ประการใด
บิดาแจ้งทะเบียนบุตรเกิด ให้ใช้นามสกุล มีพฤติการณ์รู้กันทั่วไปว่าเป็นบุตร รับมรดกของบิดาได้ตาม มาตรา1627
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองครึ่งหนึ่งให้นางย้อยและจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งกันเองก่อน หากแบ่งไม่ได้ ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง แล้วแบ่งเงินกันคนละครึ่ง หากทำไม่ได้ให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันคนละครึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่งที่นายน่วมมีสิทธิครอบครองอยู่ เป็นของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้กรรมสิทธิ์ในที่นาพิพาทครึ่งหนึ่งนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินครึ่งหนึ่งเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 1 งาน 96 วา ที่นายน่วมมีสิทธิครอบครองอยู่ เป็นมรดกที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย จำเลยไปยื่นคำขอโอนมรดกที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยอ้างว่าเป็นบุตรของนายน่วมเจ้ามรดก อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ เพราะจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นบุตรของนายน่วม จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินทั้งสองแปลงเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ 3 งาน 92 วาเป็นของนายน่วมบิดาจำเลยแต่ผู้เดียว นายน่วมยกที่ดินให้จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้สิทธิครอบครอง และให้การต่อไปว่าเมื่อนายน่วมถึงแก่กรรมจำเลยไปขอรับมรดกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในฐานะบุตร โจทก์ไม่ใช่ทายาทผู้รับมรดกของนายน่วม ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่พิพาท ดังนี้ เห็นว่า ในคำให้การจำเลย จำเลยให้การเกี่ยวกับมรดกของนายน่วมไว้แล้ว อ้างว่าเป็นบุตรนายน่วม จำเลยได้ยื่นเรื่องราวขอรับมรดกนายน่วม ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายน่วมบิดารับรองแล้วนั้นจึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกคำให้การนอกประเด็นของจำเลยประการใด คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า ก่อนนายน่วมได้นางย้อยเป็นภรรยานายน่วมได้อยู่กินกับนางล้วนมารดาจำเลยทั้งสองมาก่อน จนกระทั่งมีบุตร 2 คนคือจำเลยทั้งสอง และโจทก์ก็รับว่าก่อนนายน่วมได้นางย้อยเป็นภรรยานายน่วมมีภรรยาชื่อนางล้วน ซึ่งนางล้วนนี้เป็นมารดาของจำเลยทั้งสองตามใบทะเบียนบ้าน (เอกสารหมาย ล.3) ปรากฏว่านายน่วมแจ้งการเกิดว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุตรของนายน่วม และใช้นามสกุลของนายน่วม มีพฤติการณ์เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุตรนายน่วม ฉะนั้นจำเลยทั้งสองจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายน่วมบิดาได้รับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายน่วมนั่นเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ฉะนั้นจำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิรับมรดกของนายน่วมบิดา”
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ