คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2087/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บิดาผู้ใช้อำนาจปกครองมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินอันเป็นสังหาริมทรัพย์ของบุตรผู้เยาว์ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของบุตร เว้นแต่ในกิจการใดประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ จะต้องได้รับอนุญาตของศาลก่อน มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
บิดานำหุ้นของบุตรผู้เยาว์ไปโอนตีใช้หนี้ส่วนตัวของบิดาประโยชน์ของบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมขัดกับประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์หากทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล แม้บุตรผู้เยาว์จะทำหนังสือให้ความยินยอมด้วย ก็เป็นโมฆะ
ผู้ถือหุ้นทำหนังสือมอบกรรมสิทธิ์ในหุ้นของตนให้บิดา บิดานำหุ้นนั้นไปโอนตีใช้หนี้ให้โจทก์ แต่ทำการโอนหุ้นกันไม่ได้ เพราะขัดกับข้อบังคับของบริษัท ดังนี้ ผู้ถือหุ้นนั้นไม่ต้องรับผิดคืนเงินค่าหุ้นให้โจทก์เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์
ผู้ถือหุ้นทำหนังสือมอบอำนาจให้บิดานำหุ้นของตนไปจำนำประกันเงินกู้ ขายโอนหรือจำหน่ายด้วยประการใด ๆ บิดานำหุ้นนั้นไปโอนตีใช้หนี้ให้โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการก่อนิติสัมพันธ์ตามที่ได้รับมอบอำนาจ ซึ่งผูกพันผู้ถือหุ้นซึ่งมอบอำนาจนั้นด้วย เมื่อต่อมาปรากฏว่าโอนหุ้นให้โจทก์ไม่ได้ ผู้ถือหุ้นย่อมต้องรับผิดคืนเงินค่าหุ้นให้โจทก์

ย่อยาว

คดี ๗ สำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งเจ็ดเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทน้ำแข็งนคร จำกัด คนละ ๓ หุ้น มูลค่าหุ้นละ ๘,๐๐๐ บาท แพทย์หญิงผิวจำเลยได้มอบหุ้นให้นายพิพัฒน์บิดาโอนขายให้โจทก์และจำเลยอีก ๖ คนได้มอบอำนาจให้นายพิพัฒน์ขายหุ้นให้โจทก์และได้รับเงินค่าหุ้นไปจากโจทก์แล้วคนละ ๒๔,๐๐๐ บาทได้มอบใบหุ้นกับหนังสือโอนหุ้นให้โจทก์ไว้ แต่การโอนหุ้นผิดข้อบังคับบริษัทน้ำแข็งนคร จำกัด ไม่ยอมโอนหุ้นให้ ขอให้บังคับจำเลยทุกคนคืนเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยต่อสู้ว่านายพิพัฒน์นำหุ้นไปตีใช้หนี้และเป็นประกันหนี้ของนายพิพัฒน์จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทุกสำนวน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้นางสาวกมลทิพย์ นายมนัส และนายมานิตย์จำเลยคืนเงินให้โจทก์คนละ ๒๔,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์นางสาวกมลทิพย์ นายมนัส และนายมานิตย์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งเจ็ดเป็นบุตรของนายพิพัฒน์และเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทน้ำแข็งนครจำกัด คนละ ๓ หุ้น มูลค่าหุ้นละ ๘,๐๐๐ บาท นางสาวกมลทิพย์ นายมนัส และนายมานิตย์ จำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายพิพัฒน์นำใบหุ้นของตนไปจำนำประกันเงินกู้ขาย โอน หรือจำหน่ายด้วยประการใด ๆ ตามมูลค่าของหุ้นโดยคนทั้งสามยอมรับผิดทุกประการ นายพรชัย นายพูนศักดิ์ และนายไพบูลย์ จำเลยขณะยังเป็นผู้เยาว์ได้ทำหนังสือให้ความยินยอมให้นายพิพัฒน์นำหุ้นของตนไปจำหน่าย ขาย โอน ประกันเงินกู้ หรือจำนำ โดยจะไม่เรียกร้องหรือเกี่ยวข้อง ส่วนแพทย์หญิงผิวจำเลยได้ทำหนังสือมอบกรรมสิทธิ์ใบหุ้นให้นายพิพัฒน์ แล้วนายพิพัฒน์ได้นำเอาหุ้นทั้งหมดไปตีใช้หนี้ให้โจทก์ แต่ทำการโอนหุ้นกันไม่ได้
มีปัญหาว่า จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินค่าหุ้นคืนให้โจทก์หรือไม่
สำหรับนายพรชัย นายพูนศักดิ์ และนายไพบูลย์ จำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะทำเอกสารจำเลยทั้งสามยังเป็นผู้เยาว์อยู่ และเอกสารนี้ระบุว่าเป็นหนังสือให้ความยินยอม มิใช่หนังสือมอบอำนาจดังโจทก์อ้างแต่อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีเอกสารดังกล่าวนี้ นายพิพัฒน์ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองก็ใช้อำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินอันเป็นสังหาริมทรัพย์ของบุตรผู้เยาว์ได้ โดยไม่ต้องรับความยินยอมของบุตรถ้ากิจการที่ทำนั้นไม่ขัดต่อประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์ แต่ในกรณีนี้นายพิพัฒน์เอาหุ้นของบุตรผู้เยาว์ไปตีใช้หนี้ให้โจทก์โดยหนี้นั้นเป็นหนี้ของนายพิพัฒน์เอง บุตรผู้เยาว์ย่อมเสียประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว และนายพิพัฒน์ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ กรณีจึงเห็นได้ว่าประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๗ ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตของศาลก่อน ฉะนั้น การกระทำของนายพิพัฒน์ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตของศาลก่อน จึงเป็นโมฆะ โจทก์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดคืนเงินค่าหุ้นไม่ได้
ส่วนแพทย์หญิงผิวจำเลย ตามเอกสารปรากฏว่ามอบกรรมสิทธิ์ใบหุ้นให้นายพิพัฒน์มิใช่มอบอำนาจ การที่นายพิพัฒน์นำหุ้นไปโอนให้โจทก์จึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับนายพิพัฒน์เมื่อไม่อาจโอนหุ้นให้กันได้โจทก์ก็ต้องเรียกร้องเอาจากนายพิพัฒน์ จะมาเรียกจากจำเลยมิได้เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน
สำหรับนายมนัส นายมานิตย์ และนางสาวกมลทิพย์ จำเลยนั้นเอกสารมีข้อความชัดว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจและยอมรับผิดทุกประการต่อการกระทำของนายพิพัฒน์ กรณี จึงเป็นเรื่องจำเลยทั้งสามคนนี้ตั้งให้นายพิพัฒน์เป็นตัวแทนไปกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ เมื่อนายพิพัฒน์ไปก่อนิติสัมพันธ์กับผู้ใดโดยอาศัยใบมอบอำนาจนี้ ก็ย่อมต้องถือว่าจำเลยทั้งสามมีนิติสัมพันธ์กับผู้นั้นด้วยฉะนั้น การที่นายพิพัฒน์โอนหุ้นนี้ให้โจทก์ โดยโจทก์ใช้หนี้แทนนายพิพัฒน์ไป ซึ่งเท่ากับนายพิพัฒน์ได้รับเงินค่าหุ้นมาแล้ว ต่อมานายพิพัฒน์โอนหุ้นให้โจทก์ไม่ได้จำเลยทั้งสามก็ย่อมต้องรับผิดคืนเงินให้โจทก์ แม้หนี้ที่โจทก์ใช้หนี้แทนไปนั้นจะเป็นหนี้ของนายพิพัฒน์เองก็ตาม และไม่เป็นการนอกเหนืออำนาจที่นายพิพัฒน์ได้รับมอบไป
พิพากษายืน

Share