คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2087/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เช่านาได้ยอมให้เจ้าของนาเอานาให้ผู้อื่นเช่าแล้วทางราชการจึงได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาในท้องที่นั้น ผู้เช่าเดิมจะอ้างสิทธิขอต่ออายุสัญญาเช่าตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาไม่ได้ เพราะขณะประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านานั้น การเช่าระหว่างผู้เช่าเดิมกับเจ้าของนาไม่มีเสียแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้เช่านามาจากนายแสวง วนางค์กูลหนึ่งแปลงจำเลยทั้งสามได้คุมพวกเข้าไปแย่งดำนาในที่ ๆ โจทก์เช่า ทำให้โจทก์เสียหายรวมเป็นเงิน 12,000 บาท ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายอันเป็นผลมาแต่การละเมิดของจำเลย

จำเลยให้การตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของนาพิพาท แม้โจทก์จะได้ทำสัญญาเช่านาจากนายแสวงจริงสัญญานั้นก็ใช้ไม่ได้เพราะจำเลยเป็นผู้เช่าอยู่ก่อนจำเลยเคยร้องเรียนต่ออำเภอ ๆ ชี้ขาดให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิการเช่านารายนี้โจทก์มิได้ฟ้องคดีเสียภายใน 60 วัน จึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พ.ศ. 2493 มาตรา 14 ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป จำเลยที่ 2, 3 เป็นเพียงลูกจ้างเท่านั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์4,800 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีเสียภายในกำหนด 60 วันตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา นายแสวงจึงไม่มีสิทธิเอานาให้โจทก์เช่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนายแสวงจึงเป็นโมฆะโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อ พ.ศ. 2494 โจทก์ได้เข้าทำนารายพิพาทด้วยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ฉะนั้นสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายแสวงจึงขาดตอนไม่มีอะไรผูกพันกันแล้วพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พ.ศ. 2493 ได้ประกาศใช้ในท้องที่สมุทรปราการซึ่งนาพิพาทตั้งอยู่ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2494 ในขณะใช้กฎหมายฉบับนี้ สัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายแสวงไม่มีเสียแล้วจึงไม่มีอะไรที่จะต่ออายุได้ และแม้จะใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับแก่สัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายแสวงได้ ก็ไม่เกี่ยวกับคดีนี้เพราะคดีนี้เป็นเรื่องพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ใช่ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายแสวง ประเด็นคดีนี้คงมีเพียงว่าโจทก์เสียหายจริงหรือไม่ และจำเลยมีข้อแก้ตัวตาม กฎหมายหรือไม่ นาพิพาทจะเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือเปล่าไม่ใช่ข้อสำคัญ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยได้ละเมิดทำให้โจทก์เสียหายจริง แต่เสียหายเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ไม่มีคู่ความใดอุทธรณ์ ต้องถือว่าค่าเสียหายนั้นพอสมควรแล้วจำเลยไม่มีข้อแก้ตัวตามกฎหมาย จึงพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share