คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้จัดการ และจำเลยที่ 1 ลงชื่อในฐานะตัวแทนนิติบุคคล ไม่มีข้อความใดในสัญญาระบุว่าจำเลยที่ 1 กระทำในฐานะส่วนตัว สัญญาพิพาทฉบับนี้จึงมีผลบังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น หาผูกพันจำเลยที่ 1 ไม่ สัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง บังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จึงจะฟ้องร้องในบังคับคดีได้ อันเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การฟังพยานหลักฐานในกรณีเช่นนี้ต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 คู่ความจะนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาพิพาทไม่ได้ เมื่อตามสัญญาระบุว่าจำเลยที่ 1 กระทำในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 โจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยที่ 1 กระทำในฐานะส่วนตัวอันเป็นการนำสืบให้เห็นข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากข้อความที่ระบุไว้ในสัญญาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ได้อ้างกับโจทก์ว่าตึกแถวเลขที่ 285/13 ถนนสีลม กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1มีอำนาจหรือสิทธิจะให้เช่าได้ โจทก์หลงเชื่อจึงตกลงทำสัญญาเช่ากับโจทก์มีกำหนด 12 ปี และจ่ายเงินกินเปล่าให้แก่โจทก์ไปจำนวน 500,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองได้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 557พร้อมทั้งตึกแถวดังกล่าวจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะขายที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวแก่โจทก์และสามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันทำสัญญาโจทก์หลงเชื่อ จึงตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวกับจำเลยทั้งสองในราคา 2,200,000 บาท แต่ระบุราคาในสัญญาเพียง 1,700,000 บาท เพราะจำเลยที่ 1 ตกลงจะคืนเงินกินเปล่าจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ จึงเหลือเงินอีก 1,700,000 บาท โดยโจทก์ได้ออกเช็ค 6 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,700,000 บาท ชำระราคาที่ดินและตึกแถวดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง ต่อมาธนาคารตามเช็คได้จ่ายเงินตามเช็ค 4 ฉบับรวมเป็นเงิน 1,200,000 บาท แล้ว แต่จำเลยทั้งสองมิได้โอนที่ดินและตึกแถวให้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์ได้ติดต่อกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงทราบว่าถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวง ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 2,473,750 บาทแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน2,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าตามฟ้องกับนายกวงไต๋ แซ่เตียว ในฐานะส่วนตัว โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้มีนิติสัมพันธ์ในสัญญานั้นแต่อย่างใด จำนวนเงินกินเปล่าในการทำสัญญาเป็นเงิน 700,000 บาท มิใช่ 400,000 บาท ดังที่โจทก์ฟ้องและเงินจำนวนดังกล่าวนายกวงไต๋ผู้ทำสัญญาได้รับคืนไปจากจำเลยที่ 1 ต่อหน้าโจทก์แล้ว โดยมิได้ส่งมอบหรือโอนเงินนั้นมายังจำเลยที่ 2 แต่ประการใด จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ในราคา 1,700,000 บาท ต่อมาปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาในการชำระเงินรายงวดในงวดที่ 4 และงวดที่ 6 โดยเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายเพื่อชำระเงินในงวดดังกล่าวนั้นไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ จำเลยที่ 2 ติดตามทวงเงินดังกล่าวจากโจทก์ โจทก์ไม่จัดการชำระให้ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไรจากจำเลย จำเลยไม่มีหน้าที่คืนเงินที่โจทก์ชำระไว้หรือชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แต่ประการใด โจทก์ไม่มีความเสียหายถึง 500,000บาท ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายไม่เคลือบคลุม จำเลยและโจทก์ตกลงซื้อขายที่ดินและตึกแถวพิพาทในราคา 1,700,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่ได้สมคบกันหลอกลวงโจทก์ให้ทำสัญญาซื้อขาย โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้วต้องคืนเงิน 1,200,000 บาท ที่รับไปให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,200,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์โต้เถียงเป็นอย่างอื่นฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทกับโจทก์ในราคา 1,700,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองมิได้หลอกลวงโจทก์ จำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากโจทก์แล้ว 1,200,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไปจากโจทก์ให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่คดีนี้โจทก์ฟ้องตั้งรูปคดีให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ในมูลละเมิดและสัญญา โดยกล่าวในฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ให้เข้าทำสัญญากับจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำสัญญาพิพาทกับโจทก์ สำหรับความรับผิดในมูลละเมิดนั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสองมิได้สมคบกันหลอกลวงโจทก์ให้เข้าทำสัญญาด้วยจำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ส่วนความรับผิดในมูลสัญญานั้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนได้ โจทก์ได้ตกลงจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวเลขที่ 285/13 กับจำเลยทั้งสองขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูสัญญาพิพาทนั้นแล้วปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวทำระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ลงชื่อในฐานะตัวแทนนิติบุคคล ไม่มีข้อความใดในสัญญาระบุว่าจำเลยที่ 1 กระทำในฐานะส่วนตัว สัญญาพิพาทจึงมีผลบังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2เท่านั้น หาผูกพันจำเลยที่ 1 ไม่ ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 ติดต่อกับเจ้าของที่ดินและตึกแถวเพื่อนำที่ดินและตึกแถวออกให้เช่าหรือขายนั้นเป็นคนละส่วนคนละตอนกับสัญญาจะซื้อจะขายฉบับพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อนึ่งสัญญาพิพาทเป็นสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456วรรคสอง บังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ อันเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงการฟังพยานหลักฐานในกรณีเช่นนี้ต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 คู่ความจะนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาพิพาทไม่ได้ เมื่อสัญญาพิพาทตามเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่าจำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 โจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยที่ 1กระทำในฐานะส่วนตัวอันเป็นการนำสืบให้เห็นข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากข้อความที่ระบุไว้ในสัญญาพิพาทไม่ได้ ศาลจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสัญญาพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาพิพาทในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share