คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2084/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 บัญญัติว่า กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.นี้ และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. หรือ ป.วิ.อ. หรือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลมและกรณีไต่สวนมูลฟ้องนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.และข้อกำหนดดังกล่าวจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ภาค 3 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ลักษณะ 1 ฟ้องคดีอาญาและไต่สวนมูลฟ้อง มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น กรอบการพิจารณาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะต้องพิจารณาและวินิจฉัยจึงมีว่าคดีมีมูลหรือไม่ ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้พิจารณาและวินิจฉัยว่า ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ทั้งสองย่อมมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงให้พอมีมูลให้รับฟังได้ว่ามีการกระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 23 เป็นผู้กระทำความผิดตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวหาในฟ้องโดยวินิจฉัยปัญหาว่ามีการกระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรตามฟ้องหรือไม่ และในเบื้องต้นมีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลโดยใช้กรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรดังกล่าวหรือไม่อันเป็นการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยว่าคดีมีมูลหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 167 นั้นเอง มิใช่เป็นการตั้งประเด็นเพื่อวินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่
อนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ของโจทก์ทั้งสอง ระบุข้อถือสิทธิว่า “กรรมวิธีในการเตรียมส่วนผสมที่ใช้ได้อย่างน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ประกอบด้วยการทำให้ส่วนผสมต่อไปนี้ผสมเข้าด้วยกันโดยการใช้เครื่องสูบผสมเวียนน้ำมันพืชเหลือใช้ที่ผ่านการทำให้สะอาด น้ำมันดีเซลและน้ำมันละหุ่ง (หรือแอลกอฮอล์) ในอัตราส่วน 10:10:1 โดยมีปริมาตรตามลำดับ ก่อนปรับความหนืดเป็น 6 ถึง 8 เซนติสโตกส์ ด้วยน้ำมันดีเซล” ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงเพียงมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าว ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำมาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวเท่านั้นบุคคลอื่นย่อมมีสิทธิที่จะผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำมาใน ราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีอื่นๆ นอกจากกรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง เมื่อโจทก์ที่ 1 เบิกความเพียงว่า จำเลยทั้งหมดผลิตน้ำมันไบโอดีเซลโดยใช้น้ำมันพืชใช้แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลหรือไม่ แม้โจทก์ที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยทั้งหมดใช้กระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่น (Transesterification) หรือกระบวนการกำจัดไขมันและสิ่งสกปรกที่เจือปนในน้ำมันในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลอันเป็นกรรมวิธีเดียวกันกับกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านว่า กระบวนการดังกล่าวคล้ายคลึงกับกรรมวิธีในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง แต่มีจุดแตกต่างกันคือวิธีการดังกล่าวใช้เมทานอล ส่วนของโจทก์ทั้งสองใช้น้ำมันดีเซลโดยอาจมีส่วนผสมที่ใช้แอลกอฮอล์หรือไม่ใช้เลยก็ได้ ประกอบกับทางไต่สวนไม่ได้ความว่ากระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่นที่จำเลยทั้งหมดใช้ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลใช้กรรมวิธีมีลักษณะตรงกับกรรมวิธีในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองในสาระสำคัญหรือไม่อย่างไร คดีของโจทก์ทั้งสองไม่มีมูล

ย่อยาว

ระหว่างพิจารณา ก่อนศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้ากับคดีอื่นๆ โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีสำนวนที่ 5 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่ 5 ออกเสียจากสารบบความ
คดีทั้งหกสำนวนนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาโดยให้เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในสำนวนที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ตามลำดับ เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ในสำนวนที่ 5 ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ เรียกจำเลยในสำนวนที่ 2 ว่าจำเลยที่ 9 เรียกจำเลยในสำนวนที่ 3 ว่าจำเลยที่ 10 เรียกจำเลยในสำนวนที่ 4 ว่าจำเลยที่ 11 เรียกจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ในสำนวนที่ 5 ว่าจำเลยที่ 12 ที่ 13 และที่ 14 ตามลำดับและให้เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ในสำนวนที่ 6 ว่าจำเลยที่ 15 ถึงที่ 23 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองฟ้องทั้งหกสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งยี่สิบสามตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36, 63, 65, 65 ทศ, 77, 77 ทวิ, 77 ตรี, 77 จัตวา, 85, 86, 88 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90 91 ริบหรือทำลายน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 23 ริบ เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลของจำเลยที่ 15 ถึงที่ 23
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ทั้งหกสำนวนต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในประการแรกมีว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาชอบหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอ้างว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดประเด็นเพื่อพิจารณาว่า “มีการกระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรเลขที่ 500 ของโจทก์ทั้งสองตามฟ้องหรือไม่ ในเบื้องต้นหมายถึงว่ามีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลโดยใช้กรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรดังกล่าวหรือไม่” เป็นการไม่ชอบเพราะประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณามิใช่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 บัญญัติว่า กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม และกรณีไต่สวนมูลฟ้องนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 3 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ลักษณะ 1 ฟ้องคดีอาญาและไต่สวนมูลฟ้องมาใช้บังคับโดยอนุโลมซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162 บัญญัติว่า ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้วให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้ (1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง และมาตรา 167 บัญญัติว่า ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล ให้พิพากษายกฟ้องกรอบการพิจารณาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะต้องพิจารณาและวินิจฉัยจึงมีว่าคดีมีมูลหรือไม่ ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้พิจารณาและวินิจฉัยว่า ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ทั้งสองย่อมมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงให้พอมีมูลให้รับฟังได้ว่ามีการกระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 23 เป็นผู้กระทำความผิดตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวหาในฟ้อง โดยวินิจฉัยปัญหาว่ามีการกระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรเลขที่ 500 ของโจทก์ทั้งสองตามฟ้องหรือไม่ และในเบื้องต้นมีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลโดยใช้กรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรดังกล่าวหรือไม่ อันเป็นการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยว่าคดีมีมูลหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 167 นั้นเองมิใช่เป็นการตั้งประเด็นเพื่อวินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ การพิจารณาและวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟ้องไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในประการสุดท้ายมีว่า คดีของโจทก์ทั้งสองทั้งหกสำนวนมีมูลหรือไม่ เห็นว่า อนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ชื่อว่า “กรรมวิธีทำน้ำมันพืชเหลือใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล” ตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองระบุข้อถือสิทธิว่า “กรรมวิธีในการเตรียมส่วนผสมที่ใช้ได้อย่างน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ประกอบด้วยการทำให้ส่วนผสมต่อไปนี้ผสมเข้าด้วยกันโดยการใช้เครื่องสูบผสมเวียนน้ำมันพืชเหลือใช้ที่ผ่านการทำให้สะอาด น้ำมันดีเซลและน้ำมันละหุ่ง (หรือแอลกอฮอล์) ในอัตราส่วน 10:10:1 โดยปริมาตรตามลำดับ ก่อนปรับความหนืดเป็น 6 ถึง 8 เซนติสโตกส์ ด้วยน้ำมันดีเซล” ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล แต่โจทก์ทั้งสองเพียงมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าว ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 (2) ประกอบมาตรา 65 ทศ บุคคลอื่นย่อมมีสิทธิที่จะผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีอื่นๆ นอกจากกรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ทั้งสอง หากบุคคลอื่นใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสองย่อมเป็นการกระทำละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง แต่ทางไต่สวนได้ความเพียงว่าโจทก์ที่ 1 เคยแสดงกรรมวิธีขั้นตอนการผลิตตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวให้ประชาชนทั่วไปชม โดยมีจำเลยที่ 7 เข้าชมด้วย ต่อมาจำเลยที่ 15 ประกาศนโยบายจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิต จำหน่าย รวมทั้งรับรองมาตรฐานปลอดมลพิษเกี่ยวกับน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งกรรมวิธีในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลของโจทก์ทั้งสองนั้นต้องนำน้ำมันพืชเหลือใช้มาทำให้สะอาดโดยใช้กระบวนการทางเคมี คือใช้น้ำร้อนกับก๊าชโอโซนฟอกดับกลิ่นเหม็นหืนแล้วใช้แคลเซียมไฮดรอกไซด์ปรับค่ากรด-ด่าง ให้มีค่า 5-7 หลังจากนั้นใช้แป้องฟอกน้ำมันพืชแล้วนำไปต้มทิ้งไว้ให้เย็นได้น้ำมันพืชสะอาดลอยอยู่ด้านบน ส่วนสารแขวนลอยและเม็ดสีจะตกตะกอนสู่ก้นถัง แล้วกรองน้ำมันพืชสะอาดมาผสมกับน้ำมันดีเซล น้ำมันละหุ่งหรือแอลกอฮอล์ในอัตราส่วน 10:10:1 สุดท้ายปรับค่าความหนืดด้วยน้ำมันดีเซล แต่โจทก์ที่ 1 เบิกความเพียงว่ามีการดำเนินการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลของจำเลยทั้งหมดโดยใช้น้ำมันพืชใช้แล้วโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจริงหรือไม่ ที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่าจำเลยทั้งหมดใช้กระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่น (Transesterification) หรือกระบวนการกำจัดไขมันและสิ่งสกปรกที่เจือปนในน้ำมันในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลอันเป็นกรรมวิธีเดียวกันกับกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ที่ 1 เบิกความตอบทนาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ถามค้านว่า กระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่น เป็นกรรมวิธีคล้ายคลึงกับกรรมวิธีในอนุสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ทั้งสอง แต่มีจุดแตกต่างกันคือวิธีการดังกล่าวใช้เมทานอล ส่วนของโจทก์ทั้งสองใช้น้ำมันดีเซลโดยอาจมีส่วนผสมที่ใช้แอลกอฮอล์ เช่น เมทิลแอลกอฮอล์หรือเอทิลแอลกอฮอล์หรือไม่ใช้เลยก็ได้ และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ถามค้านว่า พยานเข้าใจว่ากระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่นเป็นขั้นตอนการทำความสะอาดน้ำมันพืชในกรรมวิธีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลของโจทก์ทั้งสองก็ใช้กระบวนการทำความสะอาดน้ำมันพืชเช่นเดียวกัน ส่วนจะเรียกว่าทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่นหรือไม่ พยานไม่ทราบ รวมทั้งเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 20 ถึงที่ 23 ถามค้านเกี่ยวกับปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่นตามปริญญานิพนธ์เรื่องการปรับปรุงคุณสมบัติทางเชื้อเพลิงของน้ำมันพืชที่ใช้แล้วโดยวิธีทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่นเพื่อนำมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลซึ่งไม่ปรากฏว่าเป็นกรรมวิธีเดียวกับกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองประกอบกับปรากฏตามหนังสือพิมพ์รายวันเชียงใหม่นิวส์ฉบับล้านนาธุรกิจประจำวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2548 ลงข่าวว่า จำเลยที่ 11 หัวหน้าโครงการวิจัยสาธิตไบโอดีเซลกล่าวว่ากระบวนการผลิตไบโอดีเซลที่ได้คุณสมบัติมาตรฐานสากลต้องเป็นการผลิตโดยใช้ปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่น หลังจากทำปฏิกิริยาแล้วต้องมีการกำจัดสารเร่งปฏิกิริยากำจัดกลีเซอรีน แอลกอฮอล์และกรดไขมันอิสระออก จึงจะได้ใช้ไบโอดีเซลที่ไม่เกิดผลเสียต่อเครื่องยนต์ที่ใช้ สำหรับขั้นตอนการผลิต (จากวัตถุดิบที่ใช้ 1,000 ลิตร + เมทิลแอลกอฮอล์ 100 ลิตร จะได้ไบโอดีเซล 1,000 ลิตร + กลีเซอรีน 100 ลิตร โดยประมาณ) อันเป็นการใช้เมทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมโดยไม่มีน้ำมันละหุ่งเป็นส่วนผสมเช่นเดียวกับกรรมวิธีในการผลิตตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองทั้งทางไต่สวนยังไม่ได้ความว่า ที่จำเลยทั้งหมดใช้กระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่นในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลนั้น ใช้กรรมวิธีมีลักษณะตรงกับกรรมวิธีในอนุสิทธิบัตรดังกล่าวในสาระสำคัญของโจทก์ทั้งสองหรือไม่อย่างไร ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ทั้งสองทั้งหกสำนวนไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share