คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2083/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,162 จำเลยอื่นจึงไม่มีความผิดตามฟ้องด้วย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีงบดุลร้านสหกรณ์ ห. ได้แจ้งต่อที่ประชุมกรรมการร้านสหกรณ์ว่าโจทก์ทำเงินขาดบัญชี และทำสินค้าขาดหายไปก็เนื่องจากจำเลยทั้งสามตรวจพบข้อผิดพลาดของบัญชีร้านสหกรณ์ดังกล่าว จึงไม่เป็นการกระทำโดยมิชอบอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 นั้น เอกสารที่โจทก์อ้างว่าจำเลยร่วมกันทำเป็นความเท็จให้พนักงานอัยการเป็นหลักฐานดำเนินคดีกับโจทก์เป็นเพียงรายการสินค้าที่ระบุว่าสินค้าขาดหายไปเท่านั้น และไม่มีจำเลยคนใดซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเอกสารและรับรองเอกสารดังกล่าวแล้วพิพากษายืนดังนี้ เป็นการพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 โจทก์ฎีกาว่า จำเลยร่วมกันทำเอกสารขึ้นตามหน้าที่ของจำเลยเพื่อรับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวอันเป็นเท็จ พฤติการณ์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำโดยมิชอบ และมีมูลที่ศาลจะรับพิจารณาต่อไป เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86,91, 157, 162 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9จึงไม่มีความผิดตามฟ้องด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นเพียงผู้ตรวจสอบบัญชีงบดุลร้านสหกรณ์หัวหิน จำกัด ได้แจ้งต่อที่ประชุมกรรมการร้านสหกรณ์หัวหิน จำกัด เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน2521 ว่า โจทก์ทำเงินขาดบัญชีจำนวน 111,000 บาท และทำสินค้าขาดหายไปเป็นจำนวนเงิน 64,000 บาท ก็ต้องรับผิดในเงินกำไรที่ควรได้ 51,000 บาทนั้น ก็สืบเนื่องมาจากที่จำเลยทั้งสามดังกล่าวตรวจพบข้อผิดพลาดของบัญชีร้านสหกรณ์หัวหิน จำกัด จึงไม่เป็นการกระทำโดยมิชอบอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 โจทก์นำสืบลอย ๆว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9ร่วมกันทำรายการสินค้าขาดบัญชีเอกสารหมาย จ.5 เป็นเท็จให้แก่พนักงานอัยการเป็นหลักฐานดำเนินคดีกับโจทก์ เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงรายการสินค้าที่ระบุว่าขาดหายไปเท่านั้นและไม่มีจำเลยคนใดซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเอกสารและรับรองเอกสารดังกล่าว อันเป็นการพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220ที่โจทก์ฎีกาว่า พฤติการณ์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 กระทำการโดยมิชอบ และมีมูลที่ศาลจะรับพิจารณาต่อไปจำเลยที่ 1 และจำเลยอื่นร่วมกันทำเอกสารหมาย จ.5 ขึ้นตามหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อรับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวอันเป็นความเท็จนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share