แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การแก้ไขคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 จะต้องเป็นการแก้ไขข้อหาข้ออ้างที่มีต่อจำเลยอันกล่าวไว้ในคำฟ้อง ที่เสนอต่อศาลแต่แรกโดยการเพิ่มหรือลดทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิมหรือสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ แต่คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นการเพิ่มเติมชื่อโจทก์ที่จะต้องระบุ ไว้แน่ชัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 เข้ามาในภายหลัง จึงเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เป็นโจทก์เข้ามาในคำฟ้องเดิม มิใช่เป็นเรื่องขอแก้ไขคำฟ้องตามนัยบทกฎหมายดังกล่าว คำสั่งศาลภาษีอากรกลางที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลแต่อย่างใด
ผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดีจะต้องเป็นบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) ซึ่งคำว่า “บุคคล” ตาม ป.พ.พ. ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โจทก์เป็นเพียงคณะบุคคลที่รวมกันเป็นหน่วยภาษีตาม ป.รัษฎากร เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ทั้งยังไม่ปรากฏว่าเป็นการฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงไม่ใช่ทั้งบุคคลธรรมดาและมิใช่นิติบุคคล จึงไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ กับให้จำเลยคืนเงินภาษีเพิ่มเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ที่โจทก์ชำระไปแล้วจำนวน ๓๐๖,๙๓๓ บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นคณะบุคคลตามกฎหมาย จำเลยแจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี พ.ศ. ๒๕๓๘ เพิ่มพร้อมเงินเพิ่ม โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ โจทก์จึงได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ กับให้จำเลยคืนเงินภาษีเพิ่มเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิได้มีฐานะเป็นบุคคลตาม ป.พ.พ. ขอให้ยกฟ้อง ต่อมาก่อนถึงวันนัดชี้สองสถานโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องจำนวน ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นการแก้ไขคำฟ้องในส่วนของชื่อโจทก์เป็นว่า คณะบุคคลบังอร – พงศ์วิทย์ โดยนางบังอร ลำยองเสถียร ผู้จัดการคณะบุคคล ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจของนายพงศ์วิทย์ พนาพิศาล โจทก์ และแก้ไขข้อความในคำฟ้องเดิมเป็นว่า โจทก์มีฐานะเป็นคณะบุคคลถูกต้องตามกฎหมายโดยใช้ชื่อว่า “คณะบุคคลบังอร – พงศ์วิทย์” ประกอบด้วยนางบังอร และนายพงศ์วิทย์ โดยมีนางบังอร เป็นผู้จัดการคณะบุคคล มีอำนาจกระทำการแทนคณะบุคคลได้ ในการยื่นฟ้องนี้นางบังอรกระทำในฐานะผู้จัดการ คณะบุคคล ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจของนายพงศ์วิทย์ด้วย โดยนายพงศ์วิทย์ได้มอบอำนาจให้ นางบังอรเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน ซึ่งศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องได้ ศาลฎีกาเห็นว่า การแก้ไขคำฟ้องนั้น พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๓๙ มิได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา ๑๗ ซึ่งการแก้ไขคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๙ จะต้องเป็นการแก้ไขข้อหาข้ออ้างที่มีต่อจำเลยอันกล่าวไว้ในคำฟ้องที่เสนอต่อศาลแต่แรก โดยการเพิ่มหรือลดทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ แต่คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการเพิ่มเติมชื่อโจทก์ที่จะต้องระบุไว้แน่ชัดตามมาตรา ๖๗ เข้ามาในภายหลัง จึงเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เป็นโจทก์เข้ามาในคำฟ้องเดิมมิใช่เป็นเรื่องขอแก้ไขคำฟ้องตามนัยบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องฉบับดังกล่าวย่อม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลแต่อย่างใด ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิใช่เหตุที่จำเลยยกขึ้นแก้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๒๙ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๖ และ ๑๔๒ (๕) เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า โจทก์มีฐานะเป็นคณะบุคคลตามกฎหมายใช้ชื่อว่า “คณะบุคคลบังอร – พงศ์วิทย์” ประกอบด้วย นางบังอร และนายพงศ์วิทย์ โดยมีนางบังอรเป็นผู้จัดการคณะบุคคล มีอำนาจกระทำการแทนคณะบุคคลได้ นางบังอร ในฐานะผู้จัดการคณะบุคคลได้ลงชื่อเป็นผู้แต่งทนายความมอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้องจำเลย ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่า ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๓๙ มิได้บัญญัติถึงผู้ที่จะเป็นคู่ความไว้ ดังนั้นจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา ๑๗ ซึ่งผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดี กล่าวคือเป็นผู้ยื่นคำฟ้องหรือ ถูกฟ้องต่อศาลได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา ๑ (๑๑) ว่า “คู่ความ” หมายความว่า บุคคลผู้ยื่น คำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล
และคำว่าบุคคลนั้นตาม ป.พ.พ. ได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สำหรับคณะบุคคลบังอร – พงศ์วิทย์ นั้น เป็นเพียงคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รวมกันเป็นหน่วยภาษีตาม ป. รัษฎากร ทั้งนี้เพื่อยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเสมือนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียว โดยบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินของคณะบุคคลนั้นเพื่อเสียภาษีอีก เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งลักษณะ ๒๒ ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๑๕ โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย นอกจากนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่านางบังอรและนายพงศ์วิทย์ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว ผู้เป็นโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่บุคคล ธรรมดาเช่นกัน เมื่อโจทก์มิใช่บุคคลธรรมดาและมิใช่นิติบุคคลจึงไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหาอื่นของโจทก์อีกต่อไป
พิพากษายืน