คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ขอผ่อนผันชำระเงินและได้ชำระเงินแก่โจทก์ตามข้อตกลงรวม 4 งวด หลังจากนั้นไม่ชำระ โจทก์จึงยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนพฤติการณ์แสดงว่าทางปฏิบัติโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอากำหนดเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป และการที่จำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงกันตามหนังสือขอผ่อนผันชำระเงินจึงเป็นการตกลงเลิกข้อตกลงเดิม ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญาเช่าซื้อต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดเวลาในหนังสือขอผ่อนผันชำระเงินโดยชำระเงินขาดในเดือนที่ 3 พฤิตการณ์ก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือกำหนดเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเดิมเป็นสาระสำคัญเช่นกัน จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ได้ โจทก์ต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อภายในเวลาอันสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 แต่การที่พนักงานของโจทก์ไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อและจำเลยที่ 1 คืนรถยนต์ให้ ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนคู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์ตามมาตรา391 วรรคสาม ส่วนที่จำเลยต้องใช้ราคารถยนต์ที่ยังขาดเมื่อโจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อไปนั้นมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ หากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์โจทก์ 1 คัน มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เช่าซื้อเป็นเงิน 490,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 421,975 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 7
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์จริง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญากับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือถึงโจทก์ขอผ่อนผันชำระเงินตามเอกสารหมาย ล.10 และจำเลยที่ 1 ก็ได้ชำระเงินแก่โจทก์ตามข้อตกลงรวม 4 งวด หลังจากนั้นไม่ชำระ โจทก์จึงไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าในทางปฏิบัติโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอากำหนดเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป และการที่จำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงกันตามหนังสือขอผ่อนผันชำระเงินเอกสารหมาย ล.10 จึงเป็นการตกลงเลิกข้อตกลงเดิมถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2529 และตามหนังสือขอผ่อนผันชำระเงินเอกสารหมาย ล.10 จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ในเดือนที่ 1 และที่ 2 ครบเดือนที่ 3 ขาด 1,000 บาท และเดือนที่ 4 ครบ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือกำหนดเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเดิมเป็นสาระสำคัญเช่นกัน ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดเวลาในหนังสือขอผ่อนผันชำระเงิน จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ได้ โจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อภายในเวลาอันสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 คดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 แต่การที่พนักงานของโจทก์ไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อและจำเลยที่ 1 คืนรถยนต์ให้ไปเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2530 กรณีถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์คืน คู่สัญญาจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์มาตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2529จนถึงวันที่ 22 มกราคม 2530 โดยชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือจากเงินดาวน์เพียง 37,025 บาท เท่านั้น โจทก์ย่อมเสียหาย เนื่องจากไม่ได้ใช้รถยนต์ในระยะเวลานั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสามเมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อประกอบกับค่าเช่าซื้อซึ่งรวมค่ารถยนต์และค่าเช่าแล้ว เห็นควรให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าใช้ทรัพย์แก่โจทก์เป็นเงิน 80,000 บาท นอกจากนี้สัญญาเช่าซื้อข้อ 9 ระบุว่าเมื่อเจ้าของยึดทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนมาได้แล้ว เจ้าของมีสิทธินำทรัพย์สินที่เช่าซื้อออกขายตามราคาที่เจ้าของเห็นสมควรโดยไม่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อทราบ และผู้เช่าซื้อให้สัญญาว่า หากราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อซึ่งได้ขายไปไม่พอชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว ผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีกให้แก่เจ้าของจนครบ เห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวตามสัญญาเช่าซื้อนั้นใช้บังคับได้ และข้อนี้โจทก์มีเอกสารหมาย จ.12เป็นพยานหลักฐานว่าโจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อไปในราคา 250,000 บาทและมีนายนคร มงคลวงศ์ศิริ เบิกความสนับสนุนเอกสารดังกล่าวจำเลยที่ 1 เบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนว่ารถยนต์คันดังกล่าวสามารถขายได้ 350,000 บาท พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลย ฟังได้ว่าโจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อไปในราคา 250,000 บาท จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดในราคารถยนต์ที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ แต่การที่จำเลยทั้งสามต้องใช้ราคารถยนต์ที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อนั้น มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ หากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นคิดราคารถยนต์รวมกับค่าเช่า และการใช้รถยนต์จะต้องมีการเสื่อมราคา จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์เพียง130,000 บาท รวมค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามต้องชดใช้แก่โจทก์210,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 210,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share