แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของเจ้าพนักงาน ผู้ใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริมด้วยวิธีอื่นใด ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไม่ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84แต่ต้องรับโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 และเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ กรอกข้อความและรับรองเอกสารเป็นหลักฐานอันเป็นเท็จในใบรับคำขอมีบัตรประชาชน (บ.ป.2) และแบบแจ้งย้ายที่อยู่(ท.ร.17) เป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จ้างวานใช้จำเลยที่ 2 กรอกข้อความลงในเอกสารใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนแบบ บ.ป.2 และใบแจ้งย้ายที่อยู่แบบ ทร.17 อันเป็นเท็จ ทั้งนี้เพื่อให้ทางราชการออกหลักฐานทางทะเบียนให้จำเลยที่ 1 อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตต่อหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและประชาชนทั่วไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,84, 91, 157, 162 ที่แก้ไขแล้วริบของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 2ต่อกับโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7130/2532 และหมายเลขดำที่9832/2532 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(1) ประกอบมาตรา 84 จำเลยที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(1) ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทงละ 3 ปี รวมสองกระทง จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2คนละ 6 ปี ของกลางให้ริบ นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกคดีหมายเลขแดงที่ 7130/2532 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6326/2533ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(1) ประกอบมาตรา 84 วรรคสองจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(1)เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1ตามมาตรา 157, 84 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 3 ปีลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปีโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6326/2533ของศาลชั้นต้น ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7130/2532 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงไม่นับโทษต่อให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 1 ได้ใช้จ้างวาน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่นและรักษาราชการแทนหัวหน้าเขตห้วยขวาง กรอกข้อความอันเป็นเท็จในแบบบ.ป.2 ตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 1ได้ก่อให้จำเลยที่ 2 กรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบ ท.ร.17 ตามเอกสารหมาย จ.7 และรับรองเอกสารดังกล่าว เห็นว่า เอกสารหมายจ.5 เป็นเอกสารแบบ บ.ป.2 คือแบบใบรับคำขอมีบัตรหรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน ส่วนเอกสารหมาย จ.7 เป็นเอกสารแบบ ท.ร.17คือแบบใบแจ้งการย้ายที่อยู่ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กรอกข้อความและรับรองเอกสารหมาย จ.5 แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยการกรอกข้อความและรับรองเอกสารเป็นหลักฐานอันเป็นเท็จเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2524 เพื่อให้จำเลยที่ 1ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนและจำเลยที่ 1 ก็ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนไปแล้ว อันเป็นการกระทำความผิดซึ่งจำเลยที่ 2 มีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นกรรมในความผิดสำเร็จขาดตอนไปแล้ว ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 2จึงได้กรอกข้อความและรับรองเอกสารอันเป็นแบบใบแจ้งการย้ายที่อยู่อันเป็นเท็จเป็นความผิดสำเร็จอีกตอนหนึ่งซึ่งมิใช่เป็นการกระทำในครั้งหนึ่งคราวเดียว ต่อเนื่องกันตลอดไปและไม่ใช่การกระทำที่ต้องการให้จำเลยที่ 1 ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนแต่เพียงอย่างเดียวการกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นหลายกรรมต่างกันหาใช่กรรมเดียวดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นแต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(1) ประกอบมาตรา 84 วรรคสอง โดยให้ลงโทษจำเลยที่ 1 เสมือนเป็นตัวการด้วยนั้น ยังไม่ถูกต้องเพราะแม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ใช้ จ้างวานให้จำเลยที่ 2 กระทำความผิด ต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา 84 วรรคสอง ก็ตาม แต่การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้จ้างวานย่อมไม่สามารถรับโทษเสมือนเป็นตัวการได้จำเลยที่ 1 คงเป็นได้แต่เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเท่านั้นจึงต้องรับโทษเพียงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลล่าง ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ และที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจในการรอการลงโทษจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยแต่เห็นสมควรให้ปรับจำเลยที่ 1 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 162(1) ประกอบมาตรา 86 ให้ลงโทษตาม มาตรา 157ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90และให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นสองกรรมความผิดโดยเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกจำเลยที่ 1กระทงละ 2 ปี ปรับกระทงละ 4,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้จำคุกกระทงละ3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 1ให้รอการลงโทษไว้ 4 ปี ตามมาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์