คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2077/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่วัด ป. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาท แต่การครอบครองตึกแถวพิพาทยังเป็นของโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้เช่า เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้โอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้โอนย่อมมีหน้าที่ตาม ป.พ.พ.มาตรา 546 ที่จะต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้วแก่โจทก์ที่ 1 เพราะสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ที่ 2 กับวัด ป. ยังมีผลบังคับอยู่ เมื่อจำเลยพักอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าช่วงที่ทำไว้กับโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าช่วงและให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาทแล้วจำเลยไม่ยอมออกไป โจทก์ที่ 2 ย่อมมีอำนาจฟ้องหรือร่วมกับโจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยได้
การที่จำเลยยอมรับว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทจากวัด ป. และจำเลยได้ทำสัญญาเช่าช่วงตึกแถวพิพาทจากโจทก์ที่ 2 แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีภาระต้องพิสูจน์และส่งเอกสารสัญญาเช่านั้นเป็นพยานหลักฐาน ดังนั้น แม้สัญญาเช่าที่โจทก์ทั้งสองอ้างจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ตามคำรับของจำเลย จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 บอกเลิกสัญญาเช่าช่วงแก่จำเลยโดยไม่ชอบนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกแถวเลขที่ ๗๒ ซอยปทุมคงคา แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งส่งมอบตึกแถวดังกล่าวให้โจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๔๖๖,๖๖๒ บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ ๒๒,๒๒๒ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายออกจากตึกแถวพิพาท
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์ที่ ๑ เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ ๒๒๕๔๒/๒๕๓๙ หมายเลขแดงที่ ๑๓๗๔๓/๒๕๔๐ ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับที่โจทก์ที่ ๑ ฟ้องคดีนี้และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้แกโจทก์ที่ ๒ จนถึงปี ๒๕๔๒ ภายหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวจำเลยได้ชำระค่าเช่าให้โจทก์ที่ ๒ ถึงปี ๒๕๔๕ จำเลยจึงมีสิทธิอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาท การที่โจทก์ที่ ๒ โอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ที่ ๑ แล้ว จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวพิพาท พร้อมกับส่งมอบตึกแถวดังกล่าวให้แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ ๔,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในศาลชั้นต้น โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม ๕,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมโจทก์ที่ ๒ ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาท ๓ ชั้นครึ่ง เลขที่ ๗๒ ซอยปทุมคงคา แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร จากวัดปทุมคงคาราชวรวิหารมีกำหนด ๒๐ ปี ในระหว่างอายุการเช่าได้ให้จำเลยเช่าช่วงมีกำหนด ๑ ปี เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดโจทก์ที่ ๒ ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร มีกำหนดอีก ๒๐ ปี ต่อจากนั้น โจทก์ที่ ๒ ได้โอนสิทธิการเช่าที่เหลืออีก ๑๑ ปี ๗ เดือน แก่โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๑ ได้ทำสัญญาเช่ากับวัดปทุมคงคาราชวรวิหารเรียบร้อยแล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่…เห็นว่า แม้วัดปทุมคงคาราชวรวิหารจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาท แต่การครอบครองตึกแถวพิพาทยังเป็นของโจทก์ที่ ๒ ในฐานะผู้เช่า เมื่อโจทก์ที่ ๒ ได้โอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๒ ในฐานะผู้โอนก็ย่อมต้องมีหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งปละพาณิชย์ มาตรา ๕๔๖ ที่จะต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้วแก่โจทก์ที่ ๑ เพราะสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ที่ ๒ กับวัดปทุมคงคาราชวรวิหารยังมีผลบังคับอยู่ เมื่อจำเลยพักอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าช่วงที่ทำไว้กับโจทก์ที่ ๒ เช่นนี้ การที่โจทก์ที่ ๒ ได้บอกเลิกสัญญาเช่าช่วงและให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาทแล้ว จำเลยไม่ยอมออกไป โจทก์ที่ ๒ ย่อมมีอำนาจฟ้องหรือร่วมกับโจทก์ที่ ๑ ฟ้องขับไล่จำเลยได้ การที่โจทก์ที่ ๑ ต้องทำสัญญาเช่ากับวัดปทุมคงคาราชวรวิหารโดยตรงนั้นก็เพียงเพื่อต้องการตัดปัญหาเกี่ยวกับสัญญาเช่าอันจะพึงมีเกิดขึ้นในภายหน้าเท่านั้น
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า สัญญาเช่ามิได้ปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยยอมรับแล้วว่าโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ เช่าตึกแถวพิพาทจากวัดปทุมคงคาราชวรวิหารและจำเลยได้ทำสัญญาเช่าช่วงตึกแถวพิพาทจากโจทก์ที่ ๒ แล้วเช่นนี้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีภาระต้องพิสูจน์และส่งอ้างเอกสารสัญญาเช่านั้นเป็นพยานหลักฐาน แม้สัญญาเช่าที่โจทก์ทั้งสองอ้างจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ตามคำรับของจำเลยจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ ๒ บอกเลิกสัญญาเช่าช่วงแก่จำเลยโดยไม่ชอบนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๑,๕๐๐ บาท แทนโจทก์ทั้งสอง.

นางสาวนิดา ธนธัญญา ผู้ช่วยฯ
นางสาวอังคณา สินเกษม ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นางอัปษร หิรัญบูรณะ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share