แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนวันที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ใช้บังคับ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ไม่รับบัญชีระบุพยานโจทก์ โดยให้ถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ ให้งดสืบพยานโจทก์และนัดฟังคำพิพากษา เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาหากโจทก์ไม่เห็นด้วยและจะอุทธรณ์คำสั่งนั้น ก็จะต้องโต้แย้งคัดค้านไว้ในคดีนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาหลังจากมีคำสั่งดังกล่าวถึง 3 วัน จึงมีเวลาเพียงพอที่โจทก์จะโต้แย้งคัดค้านคำสั่งได้ เมื่อไม่โต้แย้งคัดค้าน โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 31.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยได้ถูกจำเลยเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโดยอ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ เก็บค่าโดยสารแล้วไม่ฉีกตั๋วซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานตามเดิม หากรับไม่ได้ให้จ่ายค่าชดเชยตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าเลิกจ้างโจทก์ชอบแล้วเพราะโจทก์กระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่โดยเก็บค่าโดยสารจากผู้โดยสารแล้วไม่ฉีกตั๋วให้ผู้โดยสาร ทั้งมูลคดีนี้เกิดก่อนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 49 ใช้บังคับ จะนำบทบัญญัติดังกล่าวมาบังคับใช้หาได้ไม่
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ซึ่งคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้นปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2521 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 ใช้บังคับ คือวันที่ 12 พฤษภาคม 2522 บทบัญญัติมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะไม่ต้องถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจึงยังไม่มีผลใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หรือใช้ค่าเสียหายปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเสียในชั้นนี้ ส่วนคำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับการเรียกค่าชดเชยนั้น ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 ว่าโจทก์เคยยื่นบัญชีระบุพยานไว้แต่ยื่นเลยกำหนดตามที่ศาลสั่ง ศาลจึงไม่รับบัญชีระบุพยานส่วนที่ศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้บัญชีระบุพยานตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 8 มกราคม 2531 นั้นเป็นการสั่งไปโดยผิดหลง จึงให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวโดยไม่อนุญาตให้โจทก์แก้บัญชีระบุพยาน และที่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารตามคำร้องของโจทก์ ลงวันที่ 3กุมภาพันธ์ 2531 นั้นศาลได้สั่งว่า ศาลไม่รับบัญชีระบุพยานโจทก์จึงไม่เรียกให้ให้ยกคำร้อง หลังจากนั้นแล้วโจทก์มิได้แก้ไขอะไรในเรื่องนี้ จึงถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานและศาลได้พิพากษาคดีนี้ในวันที่ 19 เดือนเดียวกันเวลา 13.00 นาฬิกาเช่นนี้ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำสั่งศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 เป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งหรือคำพิพากษากลับคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเสีย ให้ศาลแรงงานกลางทำการสืบพยานโจทก์ใหม่นั้น เห็นว่าคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่สั่งในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 ไม่รับบัญชีระบุพยานของโจทก์และถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ ให้งดสืบพยานโจทก์ และให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 เดือนเดียวกันเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งหากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งอย่างไรก็ชอบที่จะโต้แย้งคัดค้านไว้ โดยนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31 และโจทก์ก็มีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคัดค้านได้เพราะศาลนัดฟังคำพิพากษาหลังจากมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานและถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบแล้วถึง 3 วัน เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลแรงงานกลางในปัญหาข้อนี้
พิพากษายืน.