คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2073/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทายาทมีข้อขัดแย้งไม่อาจตกลงกันให้ผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งอสังหาริมทรัพย์ส่วนใดเป็นของทายาทคนใดถ้าผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวตามความต้องการของทายาทฝ่ายหนึ่งย่อมขัดกับความประสงค์ของทายาทอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งการแบ่งอาจไม่สำเร็จลุล่วงไปและอาจทำให้มีกรณีพิพาทเกิดขึ้นระหว่างทายาทกันเองและระหว่างทายาทกับผู้จัดการมรดกตามมาอีกได้ประกอบกับบำเหน็จที่ผู้จัดการมรดกได้รับก็เป็นบำเหน็จเฉพาะสำหรับผลงานที่ได้ทำสำเร็จไปแต่ละครั้งคราวกรณีมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้จัดการมรดกลาออกจากตำแหน่ง.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากเดิมศาลมีคำสั่งตั้งนายโกวิท บุญยัษฐิติและนายประธาน ดวงรัตน์ เป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าหญิงวิมลปทัมราช จิรประวัติ แทนหม่อมเจ้าขจร จิรพันธ์ุ จิระประวัติผู้จัดการมรดกคนเดิมซึ่งสิ้นชีพตักษัย ต่อมาผู้ร้องที่ 3 ที่ 4ยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกทั้งสอง ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2ยื่นคำร้องคัดค้าน ในวันนัดไต่สวนคำร้องผู้จัดการมรดกทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนตนจากการเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องที่ 3 ที่ 4จึงขอถอนคำร้องที่ขอถอนผู้จัดการมรดก ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 แถลงคัดค้านว่าไม่มีเหตุที่ผู้จัดการมรดกจะถอนตน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 3 ที่ 4 ถอนคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกได้ และนัดไต่สวนคำร้องของผู้จัดการมรดกที่ขอถอนตนจากการเป็นผู้จัดการมรดก
วันนัดไต่สวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวน ให้ผู้จัดการมรดกส่งบันทึกของหม่อมเจ้าขจรจิรพันธ์ุ จิรประวัติ ต่อศาล และนัดพร้อม
วันนัดพร้อม ผู้จัดการมรดกส่งเอกสารตามที่ศาลสั่ง ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 แถลงว่าเอกสารที่ผู้จัดการมรดกส่งต่อศาลไม่เกี่ยวกับเรื่องการถอนผู้จัดการมรดก ผู้ร้องที่ 3 ที่ 4 ปฏิเสธว่าไม่เคยเห็นและไม่เคยตกลงตามเอกสารนั้น ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้จัดการมรดกทั้งสองลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการมรดกรายนี้ได้
ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ เพราะศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โดยไม่ได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้จัดการมรดกทั้งสองแก้
ในการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องที่ 1 ฎีกา
“ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหามีว่า มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้จัดการมรดกทั้งสองลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ที่ผู้ร้องที่ 1 ฎีกาว่าไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้จัดการมรดกลาออก โดยอ้างเหตุว่า การจัดการมรดกไม่ยุ่งยากประการหนึ่งและผู้จัดการมรดกได้รับบำเหน็จไปแล้วอีกประการหนึ่งนั้น เห็นว่าข้ออ้างประการแรก เมื่อปรากฎว่าบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้รับพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.2 มีเพียงการกำหนดให้ทายาทแต่ละคนได้ส่วนแบ่งทรัพย์มรดก แต่มิได้กำหนดว่าคนใดได้ส่วนใด ตอนใดและบันทึกนั้นก็ไม่มีข้อความใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องที่ 3 หรือที่ 4เข้าไปเกี่ยวข้องรับรู้อยู่ด้วย ส่วนบันทึกข้อความตกลงระหว่างผู้รับพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีการแบ่งทรัพย์มรดกเป็นรายละเอียดนั้นก็ไม่ปรากฎลายมือชื่อของผู้ร้องที่ 3 และที่ 4รับรองไว้ ทั้งผู้ร้องที่ 3 และที่ 4 ยังได้โต้แย้งไว้ชัดแจ้งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า ไม่เคยเห็นบันทึกเอกสารหมายจ.1 กรณีย่อมฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องที่ 3 และที่ 4 ตกลงยินยอมให้มีการแบ่งทรัพย์มรดกตามบันทึกเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ทรัพย์มรดกรายนี้ ตามที่ปรากฎในเอกสารหมาย จ.2 มือสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญและจะต้องแบ่งให้ทายาทแต่ละคนได้รับตามส่วน การทำข้อตกลงต้องกระทำโดยบุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และให้ชัดเจนว่าส่วนใดเป็นของทายาทคนใด ข้อตกลงนั้นจึงจะเป็นผล เมื่อปรากฎว่าทายาทบางฝ่ายไม่ยอมตกลงด้วย ผู้จัดการมรดกย่อมจัดการแบ่งปันมรดกตามนั้นไม่ได้ นอกจากนี้ ผู้จัดการมรดกมีฐานะเสมือนตัวแทนทายาทบางกรณีและอาจถูกฟ้องให้รับผิดต่อทายาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1720 ได้
สำหรับฎีกาผู้ร้องที่ 1 ที่อ้างว่าไม่สมควรที่จะอนุญาตให้ผู้จัดการมรดกลาออกจากตำแหน่งเพราะผู้จัดการมรดกได้รับบำเหน็จนั้นเห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงจ่ายบำเหน็จเอกสารหมาย จ.5 ระบุว่าให้ผู้จัดการมรดกได้ค่าบำเหน็จคิดตามส่วนของเงินรายรับทั้งสิ้นของผลประโยชน์ที่ได้จากการจัดการมรดกก่อนหักรายจ่าย ซึ่งตามข้อตกลงนี้แสดงให้เห็นว่าผู้จัดการมรดกจะได้รับบำเหน็จต่อเมื่อจัดการให้ได้เงินมาในแต่ละครั้งแต่ละคราวซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท และปรากฎตามฎีกาของผู้ร้องที่ 1เองว่า ผู้จัดการมรดกได้บำเหน็จมาเกือบสิบปีแล้วเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่าบำเหน็จที่ตกลงกัน ผู้จัดการมรดกได้รับเป็นครั้งคราวตามผลของงานการจัดเก็บเงินผลประโยชน์ให้แก่กองมรดก ทางพิจารณาไม่ปรากฎว่าได้มีข้อตกลงให้บำเหน็จแก่ผู้จัดการมรดกทั้งสองในการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกนอกเหนือไปจากที่กล่าวมาแล้ว ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่าผู้จัดการมรดกจัดการไปแล้วและได้รับบำเหน็จเป็นครั้งคราวตามผลสำเร็จของการงานที่ทำในแต่ละครั้งตามข้อตกลง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทมีข้อขัดแย้งกัน ไม่อาจตกลงกันให้ผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนใดเป็นของทายาทคนใดได้และบำเหน็จที่ผู้จัดการมรดกได้รับก็เป็นบำเหน็จเฉพาะสำหรับผลงานที่ทำสำเร็จไปแล้วแต่ละครั้งคราวไม่เกี่ยวกับการจัดแบ่งปันที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตรงตามข้อตกลงที่ทำไว้กับทายาทของเจ้ามรดกแล้ว เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวตามความต้องการของทายาทฝ่ายหนึ่ง ย่อมขัดกับความประสงค์ของทายาทอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการแบ่งอาจไม่สำเร็จลุล่วงไปได้ดังกล่าวแล้ว และอาจทำให้มีกรณีพิพาทเกิดขึ้นระหว่างทายาทกันเอง และระหว่างทายาทกับผู้จัดการมรดกตามมาอีกได้ กรณีมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้จัดการมรดกทั้งสองลาออกจากตำแหน่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2527 ระหว่าง หม่อมราชวงศ์สุรภีสวัสดิวัฒน์ กับพวก โจทก์ หลวงสาร นัยประสาสน์ กับพวก จำเลยที่ผู้ร้องที่ 1 อ้างมาประกอบฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ เทียบเคียงกันไม่ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ผู้จัดการมรดกทั้งสองมิได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้”.

Share