คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2067/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดพระนคร-ธนบุรี โดยนำน้ำแข็งจากจังหวัดสมุทรสาครเข้ามาจำหน่ายในเขตจังหวัดพระนคร โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อตามฟ้องบรรยายว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมทั้งน้ำแข็งของกลางที่เชิงสะพานบางไผ่ตำบลปากคลอง อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ย่อมแสดงว่าจำเลยยังไม่ทันนำน้ำแข็งเข้ามาในเขตจังหวัดพระนคร อันเป็นความผิดตามที่โจทก์กล่าวหา แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ จำเลยก็ไม่มีความผิดตามฟ้อง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๑๓ เวลา ๙.๓๐ นาฬิกา จำเลยได้ทราบประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดพระนคร-ธนบุรีแล้ว บังอาจฝ่าฝืนนำน้ำแข็งบรรทุกรถยนต์จากจังหวัดสมุทรสาคร นอกเขตจังหวัดพระนครธนบุรีเข้ามาจำหน่ายในเขตจังหวัดพระนครโดยไม่รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยน้ำแข็งของกลางที่เชิงสะพานบางไผ่ ตำบลปากคลอง อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘, ๑๗ ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดพระนคร ฉบับที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๐๓ เรื่องห้ามน้ำแข็งนอกเขตเข้ามาจำหน่าย ประกาศฯ จังหวัดธนบุรี (ฉบับที่ ๕๑) พ.ศ. ๒๕๐๕ เรื่องควบคุมและกำหนดราคาสูงสุดของน้ำแข็งและเครื่องดื่มบางชนิด และพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๗, ๘
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่ประกาศที่ฟ้องไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรแม้จะอ้างว่าออกตามมาตรา ๘ ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ก็ไม่มีผลบังคับ อ้างฎีกาที่ ๑๑๑๐/๒๕๑๒ และจำเลยคดีนี้ไม่ได้ทำการขายน้ำแข็งเกินราคาที่กำหนดในประกาศฉบับที่ ๕๑ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดฉบับที่โจทก์ฟ้องออกโดยชอบด้วยกฎหมาย มีผลบังคับได้ พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘, ๑๗ และประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดธนบุรี ฉบับที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๐๓ ปรับ ๑๐๐ บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงปรับ ๕๐ บาท ข้อที่ขอให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิดฯ นั้น ได้มีพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓๐ ออกมาทับแล้ว จึงให้ยกคำขอข้อนี้ อ้างฎีกาที่ ๙๕๒/๒๔๙๓
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดพระนคร-ธนบุรี โดยนำน้ำแข็งจากจังหวัดสมุทรสาครเข้ามาจำหน่ายในเขตจังหวัดพระนคร โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายและส่งสำเนาประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดพระนคร ฉบับที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๐๓ เรื่องห้ามน้ำแข็งนอกเขตจังหวัดเข้ามาจำหน่ายในเขตจังหวัดพระนครและประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดธนบุรี ฉบับที่ ๕๑ พ.ศ. ๒๕๐๕ เรื่องการควบคุมและกำหนดราคาสูงสุดของน้ำแข็งและเครื่องดื่มบางชนิดมาท้ายบันทึกคำฟ้อง แต่ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยน้ำแข็งของกลางที่เชิงสะพานบางไผ่ตำบลปากคลอง อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ซึ่งแสดงว่าจำเลยยังไม่ทันได้นำน้ำแข็งของกลางเข้ามาในเขตจังหวัดพระนครอันเป็นความผิดตามที่โจทก์กล่าวหา ส่วนประกาศฯ ฉบับที่ ๕๑ นั้น ก็เป็นประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดธนบุรีไม่เกี่ยวกับข้อหาตามคำบรรยายของโจทก์แต่อย่างใด ดังนี้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไปศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในผลที่ให้ยกฟ้อง
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์

Share