แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ขณะที่ผู้คัดค้านผิดสัญญาประกัน พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกัน ตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (8) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นก็ตาม แต่เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมความใน ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง โดยวางหลักเกณฑ์ว่า หัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกัน และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 ดังนี้ อำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันจึงเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ร้องนับแต่วันดังกล่าวด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้เพิกถอนหมายบังคับคดีเฉพาะผู้คัดค้าน รวมถึงการดำเนินการบังคับคดีแก่ผู้คัดค้านตามหมายบังคับคดี ผู้ที่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงตกแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกัน มิใช่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกา
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้คัดค้าน นางกาญจนา และนางจรรยา ร่วมกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โดยนางกาญจนาและนางจรรยาใช้ตำแหน่งข้าราชการครูเป็นหลักประกันในวงเงินคนละสองแสนบาท และผู้คัดค้านวางเงินสดสองหมื่นบาทเป็นประกัน รวมวงเงินทั้งสิ้นสี่แสนสองหมื่นบาท ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยตีราคาประกันสี่แสนบาท ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2544 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยหลบหนีไม่มาศาล ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันเต็มตามสัญญา ผู้ประกันทั้งสามไม่ชำระค่าปรับ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 ศาลชั้นต้นนำเงินสดสองหมื่นบาทที่ผู้คัดค้านวางเป็นหลักประกันมาชำระค่าปรับ วันที่ 29 พฤษภาคม 2545 โจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่ผู้ประกันทั้งสาม วันที่ 13 มิถุนายน 2545 ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่ผู้ประกันทั้งสาม วันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกันยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีแก่ผู้ประกันออกไปอีก 3 ปี นับแต่วันครบกำหนดวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต วันที่ 23 สิงหาคม 2555 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีและเพิกถอนการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินฝากของผู้คัดค้านซึ่งมีอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเคหะร่มเกล้า และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขาภิบาล 3 บึงกุ่ม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม หากผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งของศาลเกี่ยวกับการบังคับคดีผู้ประกันไม่ถูกต้องอย่างไร ผู้ร้องชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีเฉพาะผู้คัดค้าน รวมถึงการดำเนินการบังคับคดีแก่ผู้คัดค้านตามหมายบังคับคดีดังกล่าวด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว เห็นว่า ในขณะที่ผู้คัดค้านผิดสัญญาประกัน พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (8) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ต่อมามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 34 ให้เพิ่มเติมความเป็นวรรคสองของมาตรา 119 โดยบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับคดีตามสัญญาประกัน ให้ศาลชั้นต้นที่พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีนั้นมีอำนาจออกหมายบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลซึ่งต้องรับผิดตามสัญญาประกันได้เสมือนว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา และให้ถือว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกันดังกล่าว และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 ดังนี้ อำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันจึงเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ร้องนับแต่วันดังกล่าวด้วย ทั้งเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 ผู้ร้องเป็นผู้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีแก่ผู้ประกันออกไปอีก 3 ปี และต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้าน ครั้นวันที่ 23 สิงหาคม 2555 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีและเพิกถอนการอายัดบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้าน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีเฉพาะผู้คัดค้าน รวมถึงการดำเนินการบังคับคดีแก่ผู้คัดค้านตามหมายบังคับคดีดังกล่าวด้วย ดังนี้ ผู้ที่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คือ ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกา ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์