คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2044/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตกลงทำสัญญาขายฝากที่ดิน โดยถือเอาหนี้เงินกู้เป็นราคาที่ขายฝากเป็นการแปลงหนี้ใหม่
เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่ขายฝากไว้ก่อนขายฝาก ผู้ขายฝากไม่มีสิทธินำไปขายฝากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 305(1) การขายฝากจึงมิได้เกิดมีขึ้น หนี้เงินกู้จึงไม่ระงับสิ้นไปผู้ค้ำประกันยังต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันอยู่
การที่ลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์แล้วเจ้าหนี้มิได้ดำเนินการเพื่อให้ได้เข้าเฉลี่ยหนี้นั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เจ้าหนี้เสียสิทธิที่จะฟ้องผู้ค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2507 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไป 31,400 บาท สัญญาให้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฏตามสำเนาสัญญากู้และสำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง

วันที่ 18 พฤษภาคม 2510 จำเลยได้ทำนิติกรรมขายฝากที่ดินสวนยางให้โจทก์ในราคา 31,400 บาท เท่ากับจำนวนเงินกู้โดยจดทะเบียนการขายฝากเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2510 เพื่อเป็นการหักกลบลบหนี้

แต่เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2510 นายหะยีฮารน สุหลง เจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่แปลงนี้ โจทก์ร้องขัดทรัพย์ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องขัดทรัพย์คดีถึงที่สุด จึงไม่อาจหักกลบลบหนี้กันได้

ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินต้น 31,400 บาท กับดอกเบี้ย1,962.50 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่าได้เป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้ แต่จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจดทะเบียนขายฝากให้โจทก์แล้ว หนี้รายนี้เป็นอันระงับไป จำเลยที่ 2 พ้นภาระการเป็นผู้ค้ำประกันเมื่อนายฮะยีฮารน สุหลง ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้เรียกร้องให้โจทก์ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 เพื่อให้โจทก์ขอเฉลี่ยหนี้รายนี้ โจทก์ก็ไม่ดำเนินคดี จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนที่โจทก์อาจจะได้รับส่วนเฉลี่ยจากนายหะยีฮารนสุหลง โจทก์ไม่ได้เรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ก่อนฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์และค้างชำระดอกเบี้ยจริงตามฟ้อง ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ขายฝากที่ดินให้โจทก์เป็นการหักกลบลบหนี้นั้น การขายฝากไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ในคดีอื่นยึดที่ดินดังกล่าวก่อนจะได้จดทะเบียนการขายฝาก หนี้เงินกู้จึงยังคงอยู่ ภาระการค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ไม่ระงับไป ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ไม่รีบดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 เพื่อที่จะได้ขอเฉลี่ยหนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนที่โจทก์อาจจะได้รับส่วนเฉลี่ยนั้น โจทก์ได้ร้องขัดทรัพย์และสู้คดีจนถึงศาลอุทธรณ์ เมื่อเห็นว่าไม่มีทางชนะ จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว ตามคำขอท้ายฟ้องก็แสดงว่าโจทก์จะต้องบังคับคดีเอากับจำเลยที่ 1 ก่อนพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินต้น 31,400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาใจความว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเปลี่ยนแปลงสารสำคัญแห่งสัญญาจากสัญญากู้มาเป็นสัญญาขายฝากหนี้เดิมเป็นอันระงับสิ้นไปจำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดชอบและการที่โจทก์เพิกเฉยไม่รีบดำเนินการเพื่อให้ได้เข้าเฉลี่ยหนี้ในคดีที่นายหะยีฮารน สุหลงฟ้องจำเลยที่ 1 และยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไว้ โจทก์จึงเสียสิทธิที่จะฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาขายฝากที่ดิน โดยถือเอาหนี้เงินกู้เป็นราคาที่ขายฝากเช่นนี้ เป็นการแปลงหนี้ เพราะเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสารสำคัญแห่งหนี้ หนี้เงินกู้จึงระงับสิ้นไป แต่ถ้าหนี้ตามสัญญาขายฝากมิได้เกิดมีขึ้นด้วยประการใด ๆ หนี้เงินกู้ก็ยังหาระงับไปไม่

คดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในวันที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนการขายฝากที่ดินกันนั้น นายหะยีฮารน สุหลง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 36/2510 นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปขายฝากให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 305(1) และศาลอุทธรณ์ได้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของโจทก์คดีนี้ถึงที่สุดไปแล้ว การขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมิได้เกิดมีขึ้นหนี้เงินกู้จึงไม่ระงับสิ้นไป จำเลยที่ 2 ยังต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันนั้นอยู่

ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์เสียสิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ 2 เพราะโจทก์เพิกเฉยไม่รีบดำเนินการเพื่อให้ได้เข้าเฉลี่ยหนี้นั้น โจทก์คงเข้าใจว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายฝากที่ดินเป็นการหักกลบลบหนี้ที่ดินตกเป็นของโจทก์แล้ว โจทก์จึงได้ดำเนินการร้องขัดทรัพย์ ครั้นเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะเอาทรัพย์ที่ต้องยึดไปขายฝากหรือโอนให้ผู้อื่นได้ ผู้ร้องขัดทรัพย์ย่อมไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สิทธิเหนือทรัพย์สินที่ยึด โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยตามหนี้เดิมหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เพิกเฉยแต่ประการใดไม่ ทั้งกรณีเช่นนี้ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์เสียสิทธิในการฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน

พิพากษายืน

Share