คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2042/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. ทำการก่อสร้างบ้าน โดยจ้างบริษัท ค. จัดซื้อและคัดเลือกวัสดุก่อสร้าง และ จ้างจำเลยที่ 1 ควบคุมการปลูกสร้างบ้านหลังดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้โจทก์ทำสัญญากับบริษัท อ. และ บริษัท ค. ทั้งที่โจทก์ ไม่รู้จักบริษัททั้งสอง จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการให้โจทก์ทำสัญญาดังกล่าวและเป็นผู้รับเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจากโจทก์ พฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดบริษัททั้งสองแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบริษัททั้งสองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1
ประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่และคดีขาดอายุความหรือไม่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยทั้งสองประเด็นนี้ไว้ในคำพิพากษาและพิพากษายกฟ้องโจทก์ เมื่อโจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์และจำเลยที่ 1 ยื่นคำแก้อุทธรณ์โดยมิได้กล่าวอ้างปัญหาทั้งสองข้อนี้ไว้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งสองประเด็นจึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายฐานผิดสัญญา 2,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,099,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี กำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งในโครงการบางปูคันทรีคลับของจำเลยที่ 2 เพื่อปลูกสร้างบ้านพักอาศัย เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2533 โจทก์ทำสัญญาจ้างบริษัท อาร์. เอส. ซี. กรุ๊ป คอนสตรัคชั่น จำกัด ก่อสร้างอาคาร และว่าจ้างบริษัทคิวบิคซี จำกัด จัดซื้อและคัดเลือกวัสดุก่อสร้างบ้านดังกล่าว และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ควบคุมการปลูกสร้างบ้านหลังดังกล่าว รวมเป็นเงินค่าจ้างเกี่ยวกับบ้านพักทั้งสิ้น 4,700,000 บาท โจทก์ชำระค่าจ้างตามสัญญาแล้ว 5 งวด เป็นเงิน 3,600,200 บาท จนถึงการก่อสร้างในงวดที่ 6 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ ขอให้โจทก์จ่ายค่าจ้าง โจทก์ไม่จ่ายค่าจ้างอ้างว่าการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบและไม่ได้มาตรฐาน จำเลยที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์และผู้รับเหมาก่อสร้างหยุดงาน ต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ว่าจ้างบริษัท 282 แอสโซซิเอทส์ จำกัด ทำการปลูกบ้านพักอาศัยให้แล้วเสร็จตามแบบเป็นเงินค่าจ้าง 3,076,560 บาท คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่าจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์หรือไม่ ตามคำเบิกความของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้โจทก์ทำสัญญา 3 ฉบับ ฉบับแรก ทำกับบริษัทอาร์. เอส. ซี. กรุ๊ป คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร ฉบับที่สอง ทำกับบริษัทคิวบิคซี จำกัด มอบหมายให้จัดซื้อและคัดเลือกวัสุดก่อสร้าง ฉบับที่สาม ทำกับจำเลยที่ 1 จ้างควบคุมการก่อสร้าง โดยโจทก์ไม่รู้จัก บริษัทอาร์. เอส. ซี. กรุ๊ป คอนสตรัคชั่น จำกัด และบริษัทคิวบิคซี จำกัด โจทก์ชำระค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 ในข้อนี้ จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบปฏิเสธเพียงแต่อ้างว่าโจทก์ทำสัญญากับบริษัททั้งสอง มิใช่จำเลยที่ 1 พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร และสัญญามอบหมายให้จัดซื้อและคัดเลือกวัสดุก่อสร้างทั้งสองฉบับทำขึ้นในวันเดียวกัน เลขที่สัญญาเป็นอักษรย่อเดียวกันและต่อเนื่องกัน อีกทั้งจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้ดำเนินการให้โจทก์ทำสัญญาดังกล่าวและเป็นผู้รับเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจากโจทก์ แม้จะมีบริษัทอาร์. เอส. ซี. กรุ๊ป คอนสตรัคชั่น จำกัด และบริษัทคิวบิคซี จำกัด อยู่จริง ก็ตามแต่ตามพฤติการณ์ก็ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เชิดบริษัททั้งสองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบริษัททั้งสองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 และต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย…
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายมีว่าศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การแก้คดีไว้ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นทั้งสองข้อนี้ไว้ในคำพิพากษาและพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว ยื่นคำแก้อุทธรณ์โดยมิได้กล่าวอ้างปัญหาทั้งสองข้อนี้ไว้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งสองประเด็น ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของ ประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์.

Share