คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยต่างก็เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก. เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นทายาทยื่นคำร้องต่อศาลขอให้จำเลยจ่ายเงินแก่ทายาท. จำเลยยื่นงบดุลกองมรดกต่อศาลแสดงจำนวนเงินเหลืออยู่มากกว่าจำนวนที่เหลืออยู่จริง. แม้จะเป็นเท็จก็มิใช่เป็นข้อสำคัญในคดี. และโจทก์ซึ่งเป็นทายาทก็ไม่ได้รับความเสียหายเพราะไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินมรดกน้อยกว่าจำนวนที่เป็นจริง. การกระทำของจำเลยไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ. (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 9/2518).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับโจทก์และคณะรวม 5 คนเป็นผู้จัดการมรดก ร.อ.หลวงไวรณการตามคำสั่งศาลแพ่ง แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมแบ่งปันเงินมรดกให้โจทก์ศาลนัดพร้อมเพื่อสอบถาม จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยื่นงบดุลกองมรดกและรับรองว่าถูกต้องต่อศาล เพื่อแสดงรายรับ รายจ่าย และเงินคงเหลือของกองมรดกว่ากองมรดกมีเงินฝากใในธนาคารเหลืออยู่จำนวน 84,537.88 บาท จ่ายเงินที่ถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดไว้เป็นจำนวน 49,891 บาท รวมเป็นเงินมรดกเหลืออยู่จำนวน134,428.88 บาท อันเป็นเท็จ ความจริงเงินมรดกมีเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากที่ธนาคารเพียง 49,891 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์และทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 180, 83
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้ว วินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันยื่นงบดุลกองมรดกต่อศาลในการพิจารณาคดีแพ่งนั้น ปรากฏตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ว่างบดุลที่จำเลยยื่นนั้นจำนวนเงินมรดกเหลืออยู่มากกว่าจำนวนที่เหลืออยู่จริง แม้จะเป็นเท็จก็มิใช่เป็นข้อสำคัญในคดี และโจทก์ซึ่งเป็นทายาทก็ไม่ได้รับความเสียหายเพราะไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินมรดกน้อยกว่าจำนวนที่เป็นจริง โจทก์จะเสียหายก็ต่อเมื่อจำเลยแสดงงบดุลจำนวนเงินมรดกน้อยกว่าที่เป็นจริง เช่นนี้การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 180
พิพากษายืน

Share