แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจส่อไปในทางทุจริตโดย หวัง ผลประโยชน์อันได้ ชื่อ ว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วร้ายแรง มิใช่เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำการทุจริตโดยตรง ดังนี้จำเลยจึงไม่ต้องนำสืบถึง การกระทำทุจริตโดยตรงของโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์หาเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ ส่วนข้อกล่าวหาของจำเลยที่ว่าโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงจะเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้ รับค่าชดเชยตาม ข้อบังคับหรือไม่นั้นย่อมอยู่ในดุลพินิจ ของศาลที่จะวินิจฉัยให้ตาม รูปคดี ดังนี้เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ แต่ ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ กระทำผิดประการใด จำเลยจึงต้อง จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่ขับรถ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 6,870 บาท เมื่อวันที่ 16พฤศจิกายน 2531 จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานโดยไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเท่าเดิม หรือจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท และค่าชดเชย 41,220 บาท เงินบำเหน็จเป็นเงิน 68,700 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ปลดโจทก์ออกจากงานเนื่องจากโจทก์ได้ใช้กุญแจไขเครื่องโทรศัพท์สาธารณะบริเวณถนนรามคำแหงโดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริตโดยหวังผลประโยชน์อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนการกระทำของโจทก์ตามขั้นตอนแล้ว เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยเงินบำเหน็จ ค่าเสียหายหรือขอกลับเข้าทำงานได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พยานจำเลยที่มาเบิกความในชั้นศาลไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นการผิดวินัยตามข้อบังคับของจำเลยดังจำเลยอ้าง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าผิดวินัย โดยการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถอัตราค่าจ้างเดือนละ 6,570 บาท ส่วนคำขออื่นนั้นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าจำเลยไม่มีพยานที่รู้เห็นว่าโจทก์ไขเครื่องโทรศัพท์สาธารณะและพยาน จำเลยไม่พอฟังว่าการกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลยนั้น จำเลยไม่เห็นด้วย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงตรงกันว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2530 โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ขับรถไม่มีหน้าที่ไขเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ ได้ไขเครื่องโทรศัพท์สาธารณะที่ถนนรามคำแหงจนเปิดออก ซึ่งศาลแรงงานกลางก็ได้รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ได้ไขเครื่องโทรศัพท์สาธารณะโดยบังเอิญเพราะพบมีกุญแจคาอยู่หรือโจทก์กระทำทุจริตใช้กุญแจใส่ในช่องไขกุญแจโดยมีกระดาษรองไว้เพื่อรับเอาเงินเหรียญในตู้โทรศัพท์ไปหรือไม่ ศาลแรงงานกลางไม่เชื่อพยานจำเลย และฟังว่าโจทก์ไม่ได้กระทำการดังกล่าว โจทก์จึงไม่ได้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้นศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์เป็นพนักงานขับรถโจทก์ได้ไขเครื่องโทรศัพท์สาธารณะบริเวณถนนรามคำแหงโดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริตโดยหวังผลประโยชน์อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวตามคำสั่งเอกสารหมาย ล.3 แสดงว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุไม่ไว้วางใจ โดยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริต หาได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์นำเอากุญแจเข้าไปไขเครื่องโทรศัพท์สาธารณะด้วยตนเองหรือนำเอากระดาษเข้าไปรองรับเหรียญจากเครื่องโทรศัพท์สาธารณะอันเป็นการกระทำทุจริตโดยตรงไม่จำเลยจึงไม่ต้องนำสืบพยานถึงการกระทำทุจริตโดยตรงของโจทก์ตามที่ศาลแรงงานกลางได้ตำหนิพยานจำเลยว่าไม่ได้นำสืบถึงข้อดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อฟังได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุไม่ไว้วางใจที่โจทก์ไขกุญแจเครื่องโทรศัพท์สาธารณะโดยไม่มีหน้าที่ซึ่งโจทก์ก็นำสืบรับว่าได้กระทำการดังกล่าวจริง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ตามกฎหมาย หาใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางไม่ ส่วนข้อกล่าวหาของจำเลยที่ว่าโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จะเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จตามข้อบังคับหรือไม่นั้น ย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะวินิจฉัยตามรูปคดี ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ แต่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังยังไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำความผิดประการใดจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ซึ่งมีอายุงานเกินกว่า 3 ปี เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา เดือนละ 6,570 บาทเป็นเงิน 39,420 บาท ส่วนเงินบำเหน็จนั้น โจทก์นำสืบว่าโจทก์มีสิทธิได้รับจำนวน 68,700 บาท โดยถืออัตราเงินเดือน 6,870 คูณ 10นั้น เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ6,570 บาท จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางพิเคราะห์ตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ. 2532 เอกสารหมายจ.15 ข้อ 8(1) แล้ว ปรากฏว่าพนักงานของจำเลยที่ถูกปลดออกจากงานจะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเมื่อถูกปลดออกเพราะมีความผิดคดีนี้จำเลยได้มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานเพราะมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่ได้ปลดออกเพราะกระทำความผิด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับอายุงานคูณด้วยค่าจ้างโจทก์ โจทก์เรียกมา 10 เดือนตามข้อบังคับฯเอกสารหมาย จ.15 ข้อ 18 และข้อ 19จึงเป็นเงินจำนวน 65,700 บาท แต่โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายเพราะเลิกจ้างไม่เป็นธรรม”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 39,420 บาทและเงินบำเหน็จจำนวน 65,700 บาท แก่โจทก์คำขออื่นของโจทก์ให้ยกเสีย.