คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สร้างระบบปรับอากาศไว้ ชำรุดบกพร่อง ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ มีการกลั่นตัว เป็นหยดน้ำตามส่วนต่าง ๆ ของระบบปรับอากาศ และหยด ลงทำให้ผ้าเพดานเสียหาย หัวจ่ายลมเย็นขึ้นรา นอกจากความชำรุดเสียหายเกิดจากความบกพร่อง ในการทำงานของจำเลยที่ 1 แล้วยังเกิดเพราะจำเลยที่ 2 ออกแบบก่อสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาและวิธีปฏิบัติทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม เพราะจำเลยที่ 2 ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงสภาพที่ตั้งของอาคารที่ก่อสร้างซึ่งอยู่ในเขตที่มีฝนตกชุกเกือบทั้งปี อากาศมีความชื้นสูงจำเลยที่ 2 ออกแบบความหนาของฉนวนที่ใช้หุ้มท่อต่าง ๆในระบบปรับอากาศไม่เพียงพอในการป้องกันมิได้เกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ เป็นคำฟ้องที่แจ้งชัดในสภาพของข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือความบกพร่องในการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 และความบกพร่อง ของการออกแบบของจำเลยที่ 2 แล้ว ทั้งโจทก์ได้บรรยายความ เสียหายที่โจทก์ต้องซ่อมแซมและจ้างผู้อื่นซ่อมแซมเป็น ยอดความเสียหายที่ขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้แก่โจทก์ เป็นการบรรยายคำขอบังคับไว้ชัดแจ้งแล้วเช่นกันคำฟ้องโจทก์จึงไม่ใช่คำฟ้องเคลือบคลุม ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อตกลงเรื่องความชำรุดบกพร่องไว้ในสัญญาว่า หากงานก่อสร้าง ที่จำเลยที่ 1 รับจ้างทำและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกแบบ และควบคุมเกิดความชำรุดบกพร่องภายใน 1 ปี นับแต่ วันส่งมอบและโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซ่อมแซมแก้ไขแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ซ่อมแซม แก้ไขหรือซ่อมแซมแก้ไขแล้ว แต่ไม่เรียบร้อย โจทก์มีสิทธิจ้างผู้อื่นซ่อมแซมแก้ไขแทนได้ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดชอบในค่าจ้างที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่ ผู้อื่นนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลง ย่อมถือว่าเป็นการผิดสัญญา โจทก์ย่อมฟ้องได้ตามข้อสัญญา กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่จะนำอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 และ 601 มาใช้บังคับ เพราะบทบัญญัติแห่งมาตราทั้งสองใช้บังคับ เฉพาะกรณีที่ไม่มีข้อตกลงในสัญญาเป็นอย่างอื่น กรณีในคดีนี้เป็นเรื่องมิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความ ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้มาใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน4,864,387.82 บาท ให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 114,700 บาท แก่จำเลยที่ 1 หากโจทก์ไม่ชำระให้จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวไปจนกว่าโจทก์จะชำระให้จำเลยที่ 1 เสร็จ ให้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 เลขที่ 051/863 ลงวันที่ 14 กันยายน 2524 ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยทันที หากโจทก์ไม่คืนให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 นับแต่วันที่30 มิถุนายน 2530 เป็นต้นไปในอัตราค่าธรรมเนียมปีละ57,365 บาท จนกว่าโจทก์จะคืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3ให้จำเลยที่ 1 เสร็จ
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระสินจ้างที่ค้างชำระจำนวนเงิน 600,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดในต้นเงินเพียงไม่เกิน 2,400,000 บาท ให้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ให้แก่จำเลยที่ 1 พร้อมกับให้โจทก์ใช้ค่าธรรมเนียมปีละ 57,365 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนหนังสือค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 10,000 บาท ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ตกลงจ้าง บริษัทปัญญามิตร จำกัด ก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลแต่บริษัทปัญญามิตร จำกัด ผิดสัญญาจ้าง โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ได้ตกลงจ้างจำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลต่อในวงเงิน 114,730,000 บาท งานระบบปรับอากาศของอาคารโรงพยาบาลตามสัญญาจ้างมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง จำเลยที่ 3 เป็นสถาบันการเงินเป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 5,736,500 บาท จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานงวดที่ 13 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของสัญญาในวันที่ 22 มีนาคม 2527 จำเลยที่ 2 ผู้ควบคุมงาน ทำการตรวจสอบผลงานและรับรองผลงานแล้วคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ออกใบรับรองการรับมอบงานเพื่อเบิกจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์เบิกจ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 2ครบถ้วนตามสัญญา แต่ยังค้างค่าจ้างควบคุมงานงวดสุดท้ายจำเลยที่ 2 อีก 600,000 บาท ภายหลังรับมอบงานแล้วโจทก์พบว่าระบบปรับอากาศมีน้ำหยดตามส่วนต่าง ๆ ของระบบปรับอากาศ ทำให้ฝ้าเพดานเกิดความเสียหายเป็นรา
ปัญหาตามฎีกาโจทก์และจำเลยทั้งสาม ข้อแรกมีว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ไม่บรรยายว่าแผ่นฝ้าที่เสียหายเป็นงานของบริษัทปัญญามิตร จำกัด หรืองานที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างสร้างทำให้จำเลยที่ 1 ไม่เข้าใจเนื้อหาของคำฟ้องโจทก์และต่อสู้คดีได้ทั้งโจทก์บรรยายคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดโดยว่าจำเลยที่ 1 สร้างงานไม่เรียบร้อย ไม่ถูกต้องตามหลักวิชา แต่กลับกล่าวว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ออกแบบไม่ถูกต้องตามหลักวิชาคำฟ้องโจทก์ขัดกัน เป็นคำฟ้องเคลือบคลุมนั้นเห็นว่า โจทก์บรรยายคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 สร้างระบบปรับอากาศไว้ชำรุดบกพร่องไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ มีการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำตามส่วนต่าง ๆ ของระบบปรับอากาศ และหยดลงทำให้ฝ้าเพดานเสียหาย หัวจ่ายลมเย็นขึ้นรา นอกจากความชำรุดเสียหายเกิดจากความบกพร่องในการทำงานของจำเลยที่ 1 แล้วยังเกิดเพราะจำเลยที่ 2 ออกแบบก่อสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาและวิธีปฏิบัติทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม เพราะจำเลยที่ 2ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงสภาพที่ตั้งของอาคารที่ก่อสร้างซึ่งอยู่ในเขตที่มีฝนตกชุกเกือบทั้งปี อากาศมีความชื้นสูงจำเลยที่ 2ออกแบบความหนาของฉนวนที่ใช้หุ้มท่อต่าง ๆ ในระบบปรับอากาศไม่เพียงพอในการป้องกันมิให้เกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเป็นคำฟ้องที่แจ้งชัดในสภาพของข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือความบกพร่องในการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 และความบกพร่องของการออกแบบของจำเลยที่ 2 แล้ว ทั้งโจทก์ได้บรรยายความเสียหายที่โจทก์ต้องซ่อมแซมและจ้างผู้อื่นซ่อมแซมเป็นยอดความเสียหายที่ขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้แก่โจทก์ เป็นการบรรยายคำขอบังคับไว้ชัดแจ้งแล้วเช่นกัน คำฟ้องโจทก์จึงไม่ใช่คำฟ้องเคลือบคลุมดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยกขึ้นฎีกาแต่อย่างใด ทั้งไม่เป็นคำฟ้องที่ขัดกันดังจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ในปัญหาข้อ 3 ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นเรื่องอายุความคลาดเคลื่อนไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 โดยวินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างธรรมดา ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี กรณีไม่ใช่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ1 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอยืนยันว่าเรื่องที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องความชำรุดบกพร่อง เป็นเรื่องที่เกิดภายหลังจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานโจทก์แล้ว และกรณีไม่ใช่เรื่องจำเลยที่ 1 ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความดังที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยแต่อย่างใดเห็นว่า ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อตกลงเรื่องความชำรุดบกพร่องไว้ในสัญญาข้อ 5 และข้อ 6ตามเอกสารหมาย ล.1 และข้อ 9 ข้อ 13 และข้อ 18 ตามเอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้โจทก์จำเลยที่ 1 และที่ 2มีหน้าที่ปฏิบัติต่อกันไว้โดยเฉพาะ กล่าวคือ หากงานก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 รับจ้างทำและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกแบบและควบคุมเกิดความชำรุดบกพร่องภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบและโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซ่อมแซมแก้ไขแล้วแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ซ่อมแซมแก้ไขหรือซ่อมแซมแก้ไขแล้วแต่ไม่เรียบร้อย โจทก์มีสิทธิจ้างผู้อื่นซ่อมแซมแก้ไขแทนได้ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดชอบในค่าจ้างที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่ผู้อื่นนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลง ย่อมถือว่าเป็นการผิดสัญญาโจทก์ย่อมฟ้องได้ตามข้อสัญญา กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 และ 601 มาใช้บังคับเพราะบทบัญญัติแห่งมาตราทั้งสองใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ไม่มีข้อตกลงในสัญญาเป็นอย่างอื่น กรณีในคดีนี้เป็นเรื่องมิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ที่ได้บังคับในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้มาใช้บังคับ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดภายในกำหนดอายุความ 10 ปีแล้วคำฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความเมื่อฟังว่าอายุความฟ้องร้องมีกำหนดเวลา 10 ปี และโจทก์ได้ฟ้องภายในอายุความ 10 ปี กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1ที่ 2 ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 อีกต่อไป
ในปัญหาว่า ฝ่ายใดผิดสัญญาและค่าเสียหายมีเพียงใดศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสามไปพร้อมกัน โดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิจ้างบุคคลที่สามแก้ไขได้โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามสัญญาแต่ปรากฏว่าระบบรีเทินแซมเบอร์ ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่าเดิม ศาลอุทธรณ์กำหนดลดค่าใช้จ่ายลงเหลือเพียง 3,000,000 บาท จึงถูกต้องแล้ว ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าตนไม่ต้องรับผิดชอบเพราะความเสียหายเกิดจากการที่โจทก์เร่งรัดงานและเกิดจากบริษัทปัญญามิตร จำกัด ทำงานไว้บกพร่องนั้น เห็นว่า ความชำรุดบกพร่องเกิดจากงานตามสัญญาทั้งสิ้น จำเลยที่ 1ที่ 2 จึงปฏิเสธความรับผิดเหล่านี้ไม่ได้ จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
ปัญหาข้อสุดท้ายโจทก์ฎีกาว่า ศาลไม่มีอำนาจนำค่าจ้าง600,000 บาท งวดสุดท้ายของจำเลยที่ 2 มาหักความเสียหายที่โจทก์เรียกร้องค่าซ่อมงานที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ปฏิเสธไม่ซ่อมงานให้โจทก์ตามสัญญานั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์รับมอบงานทั้งหมดแล้วโจทก์มีหน้าที่ชำระค่างานของจำเลยที่ 2 งวดสุดท้าย เมื่อโจทก์ไม่ชำระ ศาลจึงมีสิทธินำมาหักจากค่าความเสียหายที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ได้
พิพากษายืน

Share