คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2030/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานปากใดและไม่รับฟังพยานปากใดเป็นดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นประการใดแล้วข้อเท็จจริงย่อมยุติคู่ความจะอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอื่นหาได้ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 54 โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยทำร้ายร่างกายผู้บังคับบัญชาในระหว่างที่มีการประชุมพนักงานในบริษัทจำเลยจนปากแตกโลหิตไหล. การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นการทำผิดอาญาซึ่งมีโทษตามกฎหมายแล้ว. ยังเป็นการประพฤติตนไม่เหมาะสมไม่เคารพยำเกรงผู้บังคับบัญชาซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่.ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายด้านการปกครอง. และไม่ว่าข้อบังคับของจำเลยจะกำหนดเป็นความผิดรุนแรงมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม. ความผิดของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ47(3). จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องตักเตือน และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย. และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ได้กระทำผิดตามข้อ 47 แล้ว. จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งสิ้นไม่ว่าปีใด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจกท์ประพฤติตัวไม่เรียบร้อย ไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ทำร้ายผู้บังคับบัญชาซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่าจำเลยเลกจ้างโจทก์เพราะเหตุตามฟ้องซึ่งโจทก์กระทำจริงการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดทางอาญาและฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีบางส่วนให้แก่โจทก์

โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าการที่ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานปากใดและไม่รับฟังพยานปากใด เป็นดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นข้อเท็จจริง เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังพยานประการใดข้อเท็จจริงย่อมยุติ โจทก์จะอุทธรณ์โต้เถียงคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นอื่นหาได้ไม่ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนที่โจทก์ทำร้ายผู้บังคับบัญชาในระหว่างที่มีการประชุมพนักงานนอกจากจะเป็นการกระทำผิดอาญาซึ่งมีโทษตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นการประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่เคารถยำเกรงผู้บังคับบัญชาซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายด้านการปกครอง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจะกำหนดเป็นความผิดรุนแรงมากน้อยเพียงใดก็ตาม ความผิดของโจทก์กรณีนี้ต้องถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องตักเตือนก่อน และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำซึ่งมิใช่เป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างได้กระทำผิดตามข้อ 47 ในทางกลับกันหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างได้กระทำผิดตามข้อ 47 นายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยไม่คำนึงว่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นจะเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปีใด

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมทั้งดอกเบี้ย

Share