คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วจำเลยที่2ได้ให้การปฎิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดโดยมิได้อ้างฐานที่อยู่แต่ประการใดดังนั้นการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจากข้อความว่า”เมื่อวันที่21มิถุนายน2537เวลากลางคืนหลังเที่ยง”เป็นเมื่อวันที่21มีนาคม2537เวลากลางคืนหลังเที่ยง”จึงเป็นการแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าเป็นความผิดที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีมิใช่เป็นฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงขาดองค์ประกอบความผิดโจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมคำฟ้องได้โดยจำเลยที่2มิได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือหลงข้อต่อสู้แต่ประการใดอีกทั้งในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวศาลชั้นต้นยังมิได้พิพากษาคดีจึงนับว่ามีเหตุอันควรที่จะอนุญาต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2537เวลากลางคืน หลังเที่ยง จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์สร้อยคอทองคำจำนวน 1 เส้น ราคา 42,000 บาท พร้อมพระสมเด็จปากน้ำรุ่นทองคำเลี่ยมทองคำฝังเพชร จำนวน 1 องค์ ราคา 40,000 บาท ของนางสุนีย์ธรรมธราธารกุล ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยทั้งสองได้ฉกฉวยเอาทรัพย์ดังกล่าวที่ผู้เสียหายสวมอยู่ที่คอไปซึ่งหน้าและใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2537เจ้าพนักงานตำรวจยึดพระสมเด็จปากน้ำรุ่นทองคำเลี่ยมทองคำฝังเพชรของผู้เสียหายซึ่งตกอยู่ในที่เกิดเหตุและรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 6 ฝ-9250 ของผู้มีชื่อซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 334, 335, 336, 336 ทวิ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำ 1 เส้น ราคา 42,000 บาท แก่ผู้เสียหายและคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 336 ทวิ,334, 335(7), 83 วางโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 9 เดือนให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำ 1 เส้น ราคา 42,000 บาทและคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ,83 บทหนึ่ง และมาตรา 335(7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ,83 อีกบทหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7)ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด7 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำราคา 42,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยในเบื้องต้นตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและพิพากษาว่ามิได้เป็นการพิพากษาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องนั้น เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามปัญหาข้อนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคแรก บัญญัติว่า”เมื่อมีเหตุอันควรโจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้ เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้ และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้ ฯลฯ” และมาตรา 164 บัญญัติว่า”คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้นถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาต แต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี การเพิ่มเติมฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดี ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น มิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบเว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น”เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ให้การปฎิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามโจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการปฎิเสธลอย มิได้อ้างฐานที่อยู่แต่ประการใดดังปรากฎตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2537 สำหรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ที่ขออนุญาตแก้ไขหรือเพิ่มเติมจากข้อความว่า “ข้อ 1เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2537 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองได้บังอาจ” เป็นข้อความว่า “เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2537 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองได้บังอาจ” นั้น เห็นว่าเป็นการแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าเป็นความผิดที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี มิใช่เป็นฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงขาดองค์ประกอบความผิด โจทก์จึงชอบที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมคำฟ้องได้โดยจำเลยที่ 2 มิได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือหลงข้อต่อสู้แต่ประการใด อีกทั้งคดีนี้ขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมคำฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้พิพากษาคดีและนับว่ามีเหตุอันควรที่จะอนุญาต ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและพิพากษาคดีไปแล้วนั้นนับว่าชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share