แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าของบ้านไม่อยู่ไปต่างจังหวัด มอบหมายให้คนทำสวนเฝ้าบ้านแม้จะมอบปืนให้ประจำตัว ปืนก็มิได้อยู่ที่ตัวคนสวน ซึ่งมิได้ยึดถือเพื่อตน เจ้าของบ้านเป็นผู้ครอบครองคนสวนไม่มีความผิดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 และที่แก้ไข จำคุกคนละ 4 ปี 8 เดือน ริบของกลางศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ของกลางริบ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจค้นได้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ที่ใช้แต่เฉพาะในราชการสงครามของกลางตามบัญชีเอกสารหมาย จ.2 ได้ในห้องบนบ้านของนายพงศ์ฤทธิ์กำแหงสงคราม ขณะนั้นนายพงศ์ฤทธิ์ กำแหงสงคราม เจ้าของบ้านไม่อยู่ คงมีแต่จำเลยทั้งสามอยู่ที่บ้าน มีปัญหาว่าจำเลยทั้งสามมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดของกลางไว้โดยผิดกฎหมายตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทนิคม ภูมิสิงหราช กับร้อยตำรวจเอกสุเมศร์ ดุริยานนท์ ตำรวจผู้ร่วมไปจับจำเลยทั้งสาม เป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า เมื่อไปถึงบ้านนายพงศ์ฤทธิ์กำแหงสงครามได้พบจำเลยทั้งสามที่บ้านดังกล่าว จำเลยทั้งสามบอกพยานโจทก์ทั้งสองว่านายพงศ์ฤทธิ์ไม่อยู่บ้านไปกรุงเทพฯ จำเลยทั้งสามเป็นคนรับใช้ของนายพงศ์ฤทธิ์ เมื่อพยานโจทก์แสดงหมายค้นแล้ว จำเลยทั้งสามก็ไปนำอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดของกลางซึ่งอยู่ในห้องบนบ้านของนายพงศ์ฤทธิ์มามอบให้ จำเลยทั้งสามบอกตำรวจว่าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดของกลางเป็นของนายพงศ์ฤทธิ์นำมาใช้ในกิจการนวพล ซึ่งพลเอกเสริม ณ นครเป็นผู้มอบให้นายพงศ์ฤทธิ์ ตำรวจจึงจับจำเลยทั้งสามมาดำเนินคดีนี้ และในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสามก็ให้การว่า จำเลยทั้งสามเป็นคนทำสวนและเฝ้าบ้านให้นายพงศ์ฤทธิ์ ก่อนวันเกิดเหตุนายพงศ์ฤทธิ์ได้มอบหมายให้จำเลยทั้งสามเฝ้าบ้าน ขณะที่นายพงศ์ฤทธิ์ไปกรุงเทพฯ ไม่อยู่บ้าน เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองประกอบคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสามเป็นเพียงคนรับใช้ของนายพงศ์ฤทธิ์มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของนายพงศ์ฤทธิ์ เท่านั้น อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดของกลางที่ยึดได้ก็อยู่ในห้องบนบ้านของนายพงศ์ฤทธิ์ แม้ว่าในคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามจะปรากฏว่านายพงศ์ฤทธิ์มอบปืน เอช.เค และปืนพาราเบลลั่มของกลางไว้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ประจำตัวคนละกระบอกก็ตาม แต่ขณะจับกุมจำเลยทั้งสาม อาวุธปืนดังกล่าวมิได้อยู่ที่ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 3 แสดงว่าจำเลยที่ 1และที่ 3 มิได้รับมอบหมายให้อย่างเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวไว้ด้วยตนเองตลอดไป เมื่อนายพงศ์ฤทธิ์ยังเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวที่แท้จริง จำเลยมิได้ยึดถืออาวุธปืนนั้นไว้เพื่อตน จำเลยจึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง”
พิพากษายืน