คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2028/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 มีครรภ์แก่ได้ 7 เดือน รู้ถึงเจตนาของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นสามีว่าจะไปชิงทรัพย์ผู้ตาย แต่ขณะที่จำเลยที่ 1 ล๊อกคอผู้ตาย จำเลยที่ 2 รีบปลีกตัวออกไปจากที่เกิดเหตุ มิได้ร่วมเป็นตัวการในการชิงทรัพย์ผู้ตายกับจำเลยที่ 1 เพราะมิได้แบ่งหน้าที่กันทำ ส่วนที่ได้มีการนัดหมายระหว่างจำเลยทั้งสองว่า หากจำเลยที่ 1ลงมือกระทำผิดขณะใดให้จำเลยที่ 2 หลบไปนั้น ก็มิใช่การร่วมมือกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันชิงทรัพย์ โดยร่วมกันลักเอาสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท จำนวน 1 เส้น ราคา 5,000 บาทนาฬิกาข้อมือสตรียี่ห้อไซโก้ 1 เรือน ราคา 1,500 บาท กระเป๋าหนังแบบสะพาย 1 ใบ และเงินสดจำนวน 700 บาท รวมราคาทรัพย์ 7,200บาท ของนางสาวกรเกตุหรือการะเกดหรือกี๋ สมบูรณ์เหลือหรือฮว่างถิผู้ตายไปโดยทุจริต โดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันวางแผนหลอกลวงผู้ตายให้ไปยังบริเวณที่เปลี่ยวแล้วจำเลยทั้งสองใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้แขนรัดคอผู้ตายจนหมดสติไป แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันจับผู้ตายกดให้จมลงไปในน้ำ โดยมีเจตนาฆ่าจนเป็นเหตุให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายทันที ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 289(7), 339
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย, 289(7) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 289(7) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้วางโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิตให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้องแต่คดีส่วนของจำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างไม่อุทธรณ์ศาลชั้นต้นส่งสำนวนเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (ที่ถูกมาตรา 52(1)) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์อ้างว่าในชั้นถูกจับกุมและสอบสวน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับและพนักงานสอบสวน มีรายละเอียดตามบันทึกเอกสารหมาย จ.5 และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.27 ตามลำดับ ได้ตรวจบันทึกคำรับสารภาพในชั้นจับกุมแล้ว จำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำว่าจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีชวนจำเลยที่ 2 ไปพบผู้ตายเรื่องเงินเพราะจำเลยที่ 1 ต้องการจะชิงทรัพย์ผู้ตาย เมื่อจำเลยทั้งสองและผู้ตายเดินเข้าไปในซอย 10/5 ซึ่งเป็นที่เปลี่ยว จำเลยที่ 1ก็ล๊อกคอผู้ตาย จำเลยที่ 2 จึงรีบเดินหลบออกมาทางปากซอยก่อนส่วนบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนสรุปเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุได้ว่าจำเลยทั้งสองและผู้ตายโดยสารรถยนต์รับจ้างสาธารณะไปลงที่ปากซอย10/5 แล้วพากันเดินเข้าไปในซอย ผู้ตายเดินนำหน้า จำเลยที่ 1เดินตามเป็นคนที่สอง ส่วนจำเลยที่ 2 เดินอยู่หลังสุด ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ใช้มือขวาล๊อกคอผู้ตายแล้วดึงตัวผู้ตายเข้าไปข้างทางจำเลยที่ 2 เห็นดังนั้นจึงเดินย้อนกลับออกมาทางด้านปากซอย 10/5ตามที่ได้นัดแนะไว้กับจำเลยที่ 1 ต่อมาอีกประมาณ 1 ชั่วโมงจำเลยที่ 1 จึงตามออกมาและบอกจำเลยที่ 2 ว่าผู้ตายตายแล้วซึ่งจำเลยที่ 2 แสดงความเห็นว่า ทำไมถึงทำขนาดนั้น บันทึกคำรับสารภาพและคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะนำสืบว่าเจ้าพนักงานตำรวจใช้มือและวิทยุมือถือตบหน้าเพื่อให้รับสารภาพก็ตาม แต่ก็เป็นข้ออ้างของจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวลอย ๆ แม้นายมาโนช ศรีเพชร พยานจำเลยจะเบิกความว่า กลางดึกของวันที่8 กันยายน 2532 เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวจำเลยทั้งสองออกจากห้องขังเมื่อกลับมาเห็นจำเลยที่ 2 ปากแตกมีโลหิตออก ก็ไม่น่าเชื่อถือเพราะบันทึกคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.5 และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.27 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 4 และ 5 กันยายน2532 ตามลำดับ เป็นเวลาก่อนที่นายมาโนชจะถูกส่งตัวไปขังที่ห้องขังแห่งเดียวกับจำเลยทั้งสอง จึงรับฟังไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดีแม้จะรับฟังได้ว่าบันทึกคำรับสารภาพและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ได้ทำขึ้นโดยชอบ แต่ข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวก็มิได้กล่าวถึงการกระทำใด ๆ ที่เป็นการร่วมกระทำผิดของจำเลยที่ 2คงได้ใจความเพียงว่าจำเลยที่ 2 รู้ถึงเจตนาของจำเลยที่ 1ว่าจะไปชิงทรัพย์ผู้ตาย ขณะที่จำเลยที่ 1 ล๊อกคอผู้ตายจำเลยที่ 2ก็รีบปลีกตัวออกมาจากเหตุที่เกิดขึ้น พฤติการณ์ที่ปรากฏในคดีเช่นนี้เห็นว่า จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมเป็นตัวการในการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ผู้ตายร่วมกับจำเลยที่ 1 เพราะมิได้มีการแบ่งหน้าที่กันทำความผิดเพียงแต่จำเลยที่ 2 รู้ถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่าจะทำการชิงทรัพย์เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกระทำผิดตามเจตนาร้ายเช่นนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน ส่วนข้อที่ว่าได้มีการนัดหมายระหว่างจำเลยทั้งสองว่าหากจำเลยที่ 1 ลงมือกระทำผิดขณะใดให้จำเลยที่ 2 หลบไปจากที่นั้นก็มิใช่การร่วมมือหรือเป็นการกระทำผิดในทางอาญาเช่นกัน มีข้อพิจารณาต่อไปว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ร่วมพาผู้ตายมาจากร้านทิพย์บาร์เบอร์เดินทางไปที่ต่าง ๆ จนเดินเข้ามาในซอย 10/5 ที่เกิดเหตุ จะถือว่าจำเลยที่ 2มีส่วนร่วมในการหลอกล่อผู้ตายเพื่อให้มีโอกาสชิงทรัพย์หรือไม่ในข้อนี้เห็นว่า จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 จะพาไปเก็บเงินจากลูกค้าเท่านั้น แม้แต่ในบันทึกคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.5ก็มีข้อความระบุในตอนหนึ่งว่า ไปหาผู้ตายเนื่องจากต้องการมาคุยเรื่องเงินรูปคดีจึงอาจเป็นได้ว่าเจตนาที่จะชิงทรัพย์ผู้ตายอาจเกิดขึ้นในทันทีโดยไม่ได้วางแผนมาก่อนก็ได้ เมื่อคำนึงว่าในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มีอายุเพียง 19 ปี มีครรภ์แก่ได้ 7 เดือนและจำเลยที่ 2 เป็นคนชนบท การเดินทางไปที่ใดจำเป็นจะต้องไปกับจำเลยที่ 1 สามีของตน จึงไม่น่าเชื่อว่าการเดินทางร่วมไปกับสามีเช่นนี้จะเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อหลอกล่อผู้ตาย หรือเป็นการกระทำของนางนกต่อดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและเห็นว่าถ้าจำเลยที่ 1 มีแผนการที่จะชิงทรัพย์ผู้เสียหายมาแต่แรกก็น่าจะมีวิธีที่แยบยลดีกว่าจะใช้จำเลยที่ 2 ที่มีความไม่สะดวกหลายประการจำเลยที่ 2 จึงยังไม่มีความผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share