แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้มีการยื่นคำร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มาแล้ว ซึ่งศาลมีคำสั่งยกคำร้อง คำสั่งจึงถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง แต่ปัญหาการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันกับสิทธิที่ได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เป็นข้อสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาแผน เนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติพิเศษยอมรับมาแล้วจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกชั้นหนึ่งเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันตามแผนมิได้พิจารณาเพียงจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้มีประกัน แต่จะต้องคำนึงถึงราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเป็นสำคัญ หากจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้มีประกันสูงกว่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน การเป็นเจ้าหนี้มีประกันในอันที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ย่อมมีอยู่เฉพาะในมูลค่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเท่านั้น ดังนั้น การที่เจ้าหนี้มีทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นประกันจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่มีจำนวนหนี้มีประกันจึงมีเพียงเท่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ทั้งนี้ การตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นจะต้องเป็นราคาสมควรและเป็นธรรมด้วย โดยแผนอาจจัดให้เป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ทวิ วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี ส่วนหนี้ที่เหลือย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันที่อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่มโดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกันตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคหนึ่ง (3)
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้รับจำนำหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่ลูกหนี้เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ตามสัญญาจำนำหุ้นที่กำหนดวงเงินจำนำครอบคลุมถึงหนี้ประธานตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ถึงที่ 3 ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แสดงว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างมีหุ้นที่ลูกหนี้จำนำเป็นทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันร่วมกัน จึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเช่นเดียวกัน แต่ผู้ทำแผนไม่ได้ประเมินหรือตีราคาหุ้นอันเป็นหลักประกันตามสัดส่วนแห่งความเป็นเจ้าหนี้เพื่อจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกัน แต่กลับนำจำนวนหนี้ประธานของเจ้าหนี้มีประกันแต่ละรายมาคำนวณเปรียบเทียบกับจำนวนหนี้ทั้งหมดที่บรรดาเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ แล้วจัดให้เจ้าหนี้รายที่ 20 เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และเจ้าหนี้รายที่ 39 เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันรายที่มีจำนวนหนี้มีประกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ทั้งหมดที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ และให้เจ้าหนี้มีประกันอื่นเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ซึ่งไม่ถูกต้องตามวิธีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกัน หากมีการประเมินและตีราคาหุ้นอันเป็นหลักประกันอย่างสมควรและเป็นธรรมแล้ว มูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันน่าจะไม่สูงไปกว่าจำนวนหนี้ประธาน กรณีเช่นนี้หนี้ส่วนที่เหลือจากมูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งต่างเป็นสถาบันการเงินเช่นเดียวกัน ตามแผนจะต้องจัดให้เจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันเหล่านี้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่เพียงบางส่วนเมื่อหักราคาหุ้นอันเป็นหลักประกันตามสัดส่วนของการจำนำตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้ได้รับชำระหนี้ร้อยละ 100 ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่เพียงบางส่วนเมื่อหักราคาหุ้นอันเป็นหลักประกันตามสัดส่วนของการจำนำตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เช่นกัน ให้ได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 19.58 จึงไม่ถูกต้องและเท่าเทียมกัน ปรากฏว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 และที่ 3 เป็นสถาบันการเงินที่เคยให้การช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงินให้แก่ลูกหนี้มาก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเช่นเดียวกัน จึงควรได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเหมือนกันหรือทำนองเดียวกัน โดยการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ให้ถูกต้อง มิใช่แยกไปจัดกลุ่มต่างกันและลดจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ลงถึงร้อยละ 80.42 การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้รายที่ 39 เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ทั้งหมดร้อยละ 100 และมีการแก้ไขแผนอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้รายที่ 39 โดยเฉพาะเจาะจง เป็นเหตุให้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้รายที่ 39 ในการลงมติยอมรับแผน แต่เจ้าหนี้เสียงส่วนน้อยของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้นที่มีจำนวนหนี้คิดเป็นร้อยละ 40.24 เป็นเจ้าหนี้ที่ไม่ยอมรับแผน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ต่างได้รับผลกระทบจากการจัดสรรชำระหนี้ตามแผน แผนการฟื้นฟูกิจการดังกล่าวจึงเป็นการจัดทำขึ้นเพื่อปรับลดหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 โดยไม่มีเหตุผลและไม่เท่าเทียมกันกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 มีลักษณะเลือกปฏิบัติก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งปวง ทั้งยังส่อไปในทางไม่สุจริตในการจัดทำแผน จึงเป็นแผนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ลูกหนี้ และตั้งบริษัทแจ้งวัฒนะ แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2545 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2546 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ได้มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 (2) ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดวันนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/56
เจ้าหนี้รายที่ 23 ที่ 25 ถึงที่ 29 ที่ 31 ที่ 33 ถึงที่ 36 ที่ 38 ที่ 40 และที่ 43 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้าน ขอให้มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจง ขอให้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชี้แจงว่า แผนมีรายการครบถ้วนตามที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 กำหนด โดยเหตุผลในการฟื้นฟูกิจการปรากฏในแผนหน้า 10 ข้อ 4.3 หลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ การก่อหนี้ ระดมเงินทุนและแหล่งเงินทุน ปรากฏในแผนหน้าที่ 24 ข้อ 7.3 และหน้า 35 (3) การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้ ปรากฏในแผนหน้า 19 และหน้า 35 (4) การลดทุนและเพิ่มทุน ปรากฏในแผนหน้า 34 ช่องทางในการฟื้นฟูกิจการและแผนการประกอบธุรกิจในอนาคตปรากฏในแผนหน้า 11 และหน้า 19 กำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานตามแผน ปรากฏในแผนบทที่ 11 หน้า 49 ส่วนกำหนดเวลาชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 39 ไม่ใช่ระยะเวลาดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน การจัดลำดับการชำระหนี้ตามแผนของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ขัดต่อมาตรา 130 (7) เจ้าหนี้รายที่ 20 ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ด้อยสิทธิตามมาตรา 130 ทวิ ตามแผนไม่ปรากฏว่ามีการตั้งสำรองเงินเพิ่มที่จะจ่ายให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 มูลค่ากิจการของลูกหนี้ในการที่ลูกหนี้ล้มละลายตามแผนจัดทำโดยบริษัท เอส.เค. แอคเคาน์แต้นท์ เซอร์วิสเซส จำกัด ได้แสดงสัดส่วนผลตอบแทนกรณีลูกหนี้ล้มละลายและกรณีลูกหนี้ดำเนินการตามแผนเปรียบเทียบไว้ในแผนหน้า 13 และหน้า 14 ส่วนรายงานการวิเคราะห์ซึ่งจัดทำโดยบริษัทแกร้นท์ ธอร์นตัน จำกัด ที่นำเสนอโดยเจ้าหนี้ผู้คัดค้านระบุว่ามิได้ทำการตรวจสอบข้อมูลของลูกหนี้ บริษัทย่อยและบริษัทรวม จึงจำเป็นต้องตั้งสมมุติฐานต่างๆ ในการประเมินมูลค่ากิจการ
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
เจ้าหนี้รายที่ 29 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 36 ที่ 40 และที่ 43 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาให้รับอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 26 (เดิม)
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 29 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 36 ที่ 40 และที่ 43 ประการแรกว่า การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้เจ้าหนี้รายที่ 29 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 36 ที่ 40 และที่ 43 เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ร้อยละ 19.58 น้อยกว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รายที่ 39 เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ร้อยละ 100 เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ได้ความว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการมีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันออกเป็น 3 กลุ่ม คือ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 เจ้าหนี้มีประกันที่มีจำนวนหนี้มีประกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด ได้แก่ บริษัทอคิวเมนท์ จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 20 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนำภายใต้สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (ซึ่งเป็นหลักประกันเดียวกับหลักประกันของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 และที่ 3) โดยมีจำนวนหนี้ 2,270,144,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 19.24 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด 11,800,822,000 บาท เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้มีประกันที่มีจำนวนหนี้มีประกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รายที่ 39 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนำภายใต้สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (ซึ่งเป็นหลักประกันเดียวกับหลักประกันของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 3) โดยมีจำนวนหนี้ 1,808,342,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.32 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด 11,800,822,000 บาท และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 เจ้าหนี้มีประกันอื่น ได้แก่ เจ้าหนี้รายที่ 29 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 36 ที่ 40 และที่ 43 กับเจ้าหนี้อื่นรวม 32 ราย โดยมีจำนวนหนี้รวม 5,639,570,000 บาท ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนำภายใต้สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (ซึ่งเป็นหลักประกันเดียวกับหลักประกันของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2) โดยเจ้าหนี้แต่ละรายในกลุ่มมีจำนวนหนี้มีประกันน้อยกว่า ร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด เจ้าหนี้รายที่ 29 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 36 ที่ 40 และที่ 43 อุทธรณ์ว่า เจ้าหนี้รายที่ 20 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของลูกหนี้เนื่องจากลูกหนี้ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 100 จะได้รับชำระหนี้ตามแผนร้อยละ 17.45 ของจำนวนหนี้ เจ้าหนี้รายที่ 39 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ตามแผนร้อยละ 100 ของจำนวนหนี้ ส่วนเจ้าหนี้รายที่ 29 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 36 ที่ 40และที่ 43 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 จะได้รับชำระหนี้ตามแผนร้อยละ 19.58 ของจำนวนหนี้ เป็นการได้รับชำระหนี้ในสัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเพราะเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 และที่ 3 อยู่ภายใต้สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยกัน การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้มีประกันในกลุ่มที่ 3 ได้รับชำระเพียงร้อยละ 19.58 ของจำนวนหนี้แต่ละรายน้อยกว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ซึ่งต่างได้รับชำระหนี้ร้อยละ 100 ของจำนวนหนี้ จึงไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยทั้งการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันไม่ถูกต้อง เนื่องจากจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 20 ที่ 39 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ต่างมีสัดส่วนในมูลค่าหุ้นซึ่งเป็นหลักประกันมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด เป็นการเอาเปรียบเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 แสดงให้เห็นกลอุบายในการควบคุมคะแนนเสียงของที่ประชุมเจ้าหนี้ เนื่องจากเจ้าหนี้รายที่ 20 เป็นบริษัทในเครือของลูกหนี้ซึ่งลูกหนี้และผู้ทำแผนย่อมควบคุมการลงคะแนนเสียงได้ ส่วนเจ้าหนี้รายที่ 39 มีการเสนอให้ได้รับชำระหนี้ร้อยละ 100 เพื่อจะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากเจ้าหนี้รายที่ 39 ผู้ทำแผนแก้อุทธรณ์ว่า ผู้ทำแผนจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ทั้งเจ้าหนี้รายที่ 40 และที่ 43 เคยยื่นคำร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มาแล้ว ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง คำสั่งจึงถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง การที่เจ้าหนี้รายที่ 29 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 36 ที่ 40 และที่ 43 อุทธรณ์คัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้อีกจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 29 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 36 ที่ 40 และที่ 43 อ้างว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้รายที่ 39 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 อย่างไม่เป็นธรรมและเท่าเทียมกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ฉะนั้น ปัญหาการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันกับสิทธิที่ได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงเป็นข้อสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาแผน เนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติพิเศษยอมรับมาแล้วจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกชั้นหนึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 3/1 ส่วนที่ 8 ว่าด้วยการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจ โดยใช้อำนาจทางตุลาการเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ปัญหานี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/42 (3) (ข) ให้จัดดังต่อไปนี้
(1) เจ้าหนี้มีประกันแต่ละรายที่มีจำนวนหนี้มีประกันไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของจำนวนหนี้ทั้งหมดที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ให้จัดเป็นรายละกลุ่ม
(2) เจ้าหนี้มีประกันที่ไม่ได้จัดกลุ่มไว้ใน (1) ให้จัดเป็นหนึ่งกลุ่ม
(3) เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
(4) เจ้าหนี้ตามมาตรา 130 ทวิ ให้จัดเป็นหนึ่งกลุ่ม”
และมาตรา 6 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้มีประกัน หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ”
ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันตามแผนนั้น มิได้พิจารณาเพียงจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้มีประกัน แต่จะต้องคำนึงถึงราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเป็นสำคัญ หากจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้มีประกันสูงกว่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน การเป็นเจ้าหนี้มีประกันในอันที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ย่อมมีอยู่เฉพาะในมูลค่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเท่านั้น ดังนั้น การที่เจ้าหนี้มีทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นประกันจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่มีจำนวนหนี้มีประกันตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงมีเพียงเท่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ทั้งนี้ การตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นจะต้องเป็นราคาสมควรและเป็นธรรมด้วย โดยแผนอาจจัดให้เป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ทวิ วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี ส่วนหนี้ที่เหลือย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันที่อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่มโดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกันตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคหนึ่ง (3) คดีนี้ปรากฏว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างเป็นผู้รับจำนำหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่ลูกหนี้เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ตามสัญญาจำนำหุ้นฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2543 ซึ่งสัญญาจำนำดังกล่าวกำหนดวงเงินจำนำครอบคลุมถึงหนี้ประธานตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ถึงที่ 3 ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แสดงว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างมีหุ้นที่ลูกหนี้จำนำเป็นทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันร่วมกัน จึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเช่นเดียวกัน แต่ผู้ทำแผนไม่ได้ประเมินหรือตีราคาหุ้นอันเป็นหลักประกันตามสัดส่วนแห่งความเป็นเจ้าหนี้เพื่อจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกัน แต่กลับนำจำนวนหนี้ประธานของเจ้าหนี้มีประกันแต่ละรายมาคำนวณเปรียบเทียบกับจำนวนหนี้ทั้งหมดที่บรรดาเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ แล้วจัดให้เจ้าหนี้รายที่ 20 เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และเจ้าหนี้รายที่ 39 เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันรายที่มีจำนวนหนี้มีประกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ทั้งหมดที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ และให้เจ้าหนี้มีประกันอื่นเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ซึ่งไม่ถูกต้องตามวิธีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันดังกล่าวแล้วข้างต้น และหากมีการประเมินและตีราคาหุ้นอันเป็นหลักประกันอย่างสมควรและเป็นธรรมแล้ว มูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันน่าจะไม่สูงไปกว่าจำนวนหนี้ประธาน กรณีเช่นนี้หนี้ส่วนที่เหลือจากมูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งต่างเป็นสถาบันการเงินเช่นเดียวกัน ตามแผนจะต้องจัดให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันเหล่านี้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน การจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของผู้ทำแผนที่กำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่เพียงบางส่วนเมื่อหักราคาหุ้นอันเป็นหลักประกันตามสัดส่วนของการจำนำตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ได้รับชำระหนี้ร้อยละ 100 ในขณะเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่เพียงบางส่วนเมื่อหักราคาหุ้นอันเป็นหลักประกันตามสัดส่วนของการจำนำตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เช่นกันให้ได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 19.58 จึงไม่ถูกต้องและเท่าเทียมกัน แม้ผู้ทำแผนอ้างว่าเจ้าหนี้รายที่ 39 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 เคยช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงินแก่ลูกหนี้ในภาวะวิกฤติที่สุดของลูกหนี้ จึงเป็นหนี้ที่มีลักษณะของสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญต่างจากเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 และที่ 3 ต่างก็เป็นสถาบันการเงินที่เคยให้การช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงินให้แก่ลูกหนี้มาก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเช่นเดียวกัน จึงควรได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเหมือนกันหรือทำนองเดียวกัน โดยการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ให้ถูกต้อง มิใช่แยกไปจัดกลุ่มต่างกันและลดจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ กลุ่มที่ 3 ลงถึงร้อยละ 80.42 เช่นนี้ ปรากฏตามหนังสือสำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ฉบับลงวันที่ 13 มีนาคม 2546 รายงานผลการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน เอกสารในสำนวนว่า ก่อนวันประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน เจ้าหนี้รายที่ 39 ขอแก้ไขแผนซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติให้แก้ไขแผน และผู้ทำแผนแถลงยอมให้แก้ไขแผนตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติพิเศษว่าจะยอมรับแผนและแผนที่มีการแก้ไขนั้นหรือไม่ โดยมีเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 เป็นเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 ทวิ ส่วนเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งไม่ใช่กลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา 96/46 ทวิ มีมติพิเศษยอมรับแผนและแผนที่มีการแก้ไขนั้น และเมื่อนับรวมจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนในที่ประชุมเจ้าหนี้ทุกกลุ่มแล้วมีจำนวนหนี้ทั้งสิ้น 6,464,425,219.47 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59.76 ของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น ดังนี้ การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้รายที่ 39 เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ทั้งหมดร้อยละ 100 และมีการแก้ไขแผนอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้รายที่ 39 โดยเฉพาะเจาะจง เป็นเหตุให้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้รายที่ 39 ในการลงมติยอมรับแผน แต่เจ้าหนี้เสียงส่วนน้อยของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้นที่มีจำนวนหนี้คิดเป็นร้อยละ 40.24 เป็นเจ้าหนี้ที่ไม่ยอมรับแผนซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ต่างได้รับผลกระทบจากการจัดสรรชำระหนี้ตามแผน แผนการฟื้นฟูกิจการดังกล่าวจึงเป็นการจัดทำขึ้นเพื่อปรับลดหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 โดยไม่มีเหตุผลและไม่เท่าเทียมกันกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 มีลักษณะเลือกปฏิบัติก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งปวง ทั้งยังส่อไปในทางไม่สุจริตในการจัดทำแผน จึงเป็นแผนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 29 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 36 ที่ 40 และที่ 43 ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของเจ้าหนี้รายที่ 29 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 36 ที่ 40 และที่ 43 เนื่องจากไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับว่า ไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ และให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 วรรคสาม ประกอบมาตรา 90/48 วรรคสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ