แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้นำอาวุธปืนของกลางไปขอจดทะเบียนไว้แล้วภายในกำหนดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2518จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษการที่นายทะเบียนมอบคืนอาวุธปืนให้จำเลยเก็บรักษาไว้ก่อนจนกว่าจะออกใบอนุญาตให้นั้น ก็ ต้องถือว่าจำเลยเก็บรักษาอาวุธปืนนั้นไว้แทนนายทะเบียนจำเลยไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนกระบอกนั้นไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่อีก
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนพกขนาด .22 และกระสุน.22 จำนวน 7 นัดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ แม้จำเลยจะยื่นคำให้การรับสารภาพเฉพาะอาวุธปืนเท่านั้นก็ตาม แต่ก็ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลในวันเดียวกันนั้นว่า ‘จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์จำเลยแถลงไม่สืบพยานคดีเสร็จการพิจารณา’ แสดงว่าศาลจดรายงานกระบวนพิจารณานี้หลังจากที่จำเลยยื่นคำให้การดังกล่าวแล้ว ถือได้ว่าจำเลยให้การใหม่รับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ จำเลยต้องมีความผิดฐานมีกระสุนปืน 7 นัดนี้ไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ดังที่โจทก์ฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2519 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยบังอาจมีอาวุธปืนพกขนาด .22 ทำในประเทศไทย 1 กระบอก หมายเลขทะเบียน นศ.3/4719 ซึ่งจำเลยนำมาขอจดทะเบียนไว้แล้ว แต่ทางราชการยังไม่ได้ออกใบอนุญาตให้มีและให้ใช้ตามกฎหมาย และมีกระสุน .22 จำนวน 7 นัดซึ่งอาวุธปืนและกระสุนดังกล่าวใช้ยิงได้ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่และตามเวลาดังกล่าวจำเลยบังอาจพกพาอาวุธปืนกับกระสุนปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ขอให้ริบของกลาง
จำเลยให้การว่า มีปืนพกไว้ในครอบครองและถูกจับขณะพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะจริง อาวุธปืนดังกล่าวต่อมาทางราชการออกใบอนุญาตให้มีและใช้ตามใบอนุญาตท้ายคำให้การเจ้าหน้าที่มอบอาวุธปืนดังกล่าวให้จำเลยโดยปฏิบัติตามสำเนาหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท.0515/ว.601 ท้ายคำให้การ จำเลยพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยนำติดรถยนต์ของจำเลยไปไม่สมควรริบ
โจทก์จำเลยต่างแถลงไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยมีอาวุธปืนของกลางซึ่งนำไปขอจดทะเบียนไว้แล้ว แต่ทางราชการยังไม่ได้ออกใบอนุญาตให้มีและให้ใช้โดยถูกต้องตามกฎหมาย และมีกระสุนปืนขนาด .22 จำนวน 7 นัด ซึ่งอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ กับจำเลยพกพาอาวุธปืนและกระสุนปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำคุก 2 ปี ปรับ2,000 บาท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 (ที่ถูกมาตรา 371) ปรับ 100 บาท รวมเป็นจำคุก 2 ปี ปรับ 2,100 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดกึ่ง คงจำคุก 1 ปี ปรับ 1,050 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และไม่ควรริบอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2518 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2518 บัญญัติไว้ในมาตรา 3ยกเว้นโทษให้สำหรับผู้มีอาวุธปืนที่ทำในราชอาณาจักรซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตนำมาขอรับอนุญาตต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน 90 วันนับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับเมื่อจำเลยนำอาวุธปืนของกลางมาขอรับอนุญาตตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว แม้จำเลยถูกจับเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2519 ก่อนเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนจำเลยก็ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายดังกล่าวส่วนข้อหามีกระสุนปืน 7 นัดโดยไม่รับอนุญาตนั้น จำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพไว้ด้วย เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน จึงฟังว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนอันเป็นความผิดตามฟ้องไม่ได้ พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะข้อหาฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไม่รับอนุญาต ส่วนอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางคืนจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยและริบอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังได้ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้นำอาวุธปืนของกลางไปขออนุญาตมีและใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2518เพื่อปฏิบัติการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518มาตรา 3 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2518 อันอยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายดังกล่าวเปิดโอกาสให้จำเลยขออนุญาตได้ ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2519 จำเลยนำอาวุธปืนของกลางพร้อมกระสุนปืนขนาด .22 พกพาไปในทางสาธารณะและถูกเจ้าพนักงานจับก่อนที่เจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ดังนี้ เฉพาะอาวุธปืนขนาด .22 หมายเลขทะเบียน นศ.3/4719 นั้น จำเลยได้นำไปขอจดทะเบียนไว้แล้วภายในกำหนดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ การที่นายทะเบียนผู้รับขึ้นทะเบียนมอบคืนอาวุธปืนให้จำเลยเก็บรักษาไว้จนกว่าจะออกใบอนุญาตให้นั้น ก็ต้องถือว่าจำเลยเก็บรักษาอาวุธปืนนั้นไว้แทนนายทะเบียน จำเลยจึงหามีความผิดฐานมีอาวุธปืนกระบอกนั้นไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่อีกไม่
ส่วนกระสุนปืน 7 นัดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องนั้น แม้จำเลยจะยื่นคำให้การรับสารภาพเฉพาะอาวุธปืนเท่านั้นก็ตาม แต่ก็ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลในวันเดียวกันนั้นว่า “จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์จำเลยแถลงไม่สืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณา” จึงแสดงว่าศาลจดรายงานกระบวนพิจารณานี้ หลังจากที่จำเลยยื่นคำให้การดังกล่าวข้างต้นนั้นแล้ว ถือได้ว่าจำเลยให้การใหม่รับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานมีกระสุนปืน 7 นัดนี้ไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ดังที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517 มาตรา 3 ให้ปรับ 200 บาท จำเลยรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กระสุนปืน 7 นัดของกลางให้ริบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์