แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าเสียหายที่ว่าถ้าจำเลยไม่ผิดนัดโจทก์จะได้ประโยชน์จากการเอาเงินที่จำเลยชำระไปให้ลูกค้ารายอื่นของโจทก์กู้ยืมโจทก์จะได้ดอกเบี้ยตามอัตราที่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราที่โจทก์เรียกเก็บได้จากจำเลยนั้นเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ และโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า ทั้งจำเลยยังไม่ได้รับทราบหรือยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้คาดเห็นล่วงหน้าก่อนว่าการผิดนัดของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายมากกว่าดอกเบี้ยในอัตราที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยขณะผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพิ่มจากร้อยละ 15.5 ต่อปีเป็นร้อยละ 16.5 ต่อปี ร้อยละ 17 ต่อปีร้อยละ 18.5 ต่อปี หลังจากครบกำหนดชำระเงินคืนแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่5 กรกฎาคม 2532 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์สาขาภูเก็ตจำนวน 8,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ 5 ของเดือน และชำระเงินต้นคืนภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2533 มีข้อตกลงว่าจำเลยยอมให้โจทก์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่ากฎหมายกำหนด วันเดียวกันจำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1939, 1940, 1941, 1942, 1943 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่และจะมีขึ้นในภายหน้าเป็นประกันเป็นเงิน 8,000,000 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี และตกลงว่าถ้าโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมรับผิดชำระจนครบภายหลังทำสัญญาโจทก์เพิ่มดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ตั้งแต่วันที่1 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2533 และเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2533 เป็นต้นไปซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว ตั้งแต่จำเลยกู้เงินไปจนถึงวันครบกำหนดสัญญาชำระเงินคืน จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์รวม 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 350,054.79 บาท ยังคงค้างชำระดอกเบี้ยระหว่างสัญญา 803,588.33 บาท เมื่อครบกำหนดชำระเงินต้นตามสัญญากู้แล้ว จำเลยไม่ชำระเงินคืนตามกำหนดแต่ภายหลังจากครบกำหนดแล้วจำเลยนำเงินมาชำระดอกเบี้ยให้โจทก์อีก 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 650,000 บาท เมื่อหักทอนแล้วจำเลยยังคงเป็นหนี้ดอกเบี้ย 1,431,613.71 บาท จากนั้นจำเลยไม่ชำระหนี้อีก คิดถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้ดอกเบี้ยจำนวน1,736,271.24 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,736,271.24 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 9,736,271.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ครบ ให้ยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินยังไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องและจดทะเบียนจำนองที่ดินห้าแปลงเป็นประกันหนี้ กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จำเลยไม่เคยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราต่าง ๆ ที่สูงกว่าร้อยละ 13.5 ต่อปี แม้ข้อความตามสัญญาที่จำเลยทำกับโจทก์ยอมให้โจทก์ขึ้นดอกเบี้ยอัตราไม่เกินกว่ากฎหมายกำหนดก็เป็นข้อความตามแบบพิมพ์เท่านั้น จำเลยเคยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายวันที่ 25 เมษายน 2534 จำนวน 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาทจำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์ไม่เกิน 9,000,000 บาท และจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำเลยจากโจทก์จำเลยไม่ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 8,000,000 บาท ดอกเบี้ย153,588.33 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ของต้นเงิน8,000,000 บาท นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2533 จนกว่าชำระเสร็จถ้าจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1939, 1940, 1941, 1942, 1943พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยบังคับคดีจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จนครบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2532 จำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์จำนวน8,000,000 บาท ยอมชำระดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2533 โดยมีข้อกำหนดในสัญญาว่าจำเลยยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้แต่ต้องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ปรากฏตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5ในระหว่างสัญญากู้ยืมยังไม่ครบกำหนดชำระเงินคืนโจทก์ได้ขอเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราที่คิดอยู่เดิมร้อยละ 13.5 ต่อปีเป็นร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2532 และเป็นอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2533 โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 เมื่อครบกำหนดชำระเงินยืมตามสัญญาจำเลยมิได้ชำระต้นเงินคืนเพียงแต่ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์รวม 5 ครั้ง เป็นเงิน 350,054.79 บาทปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าเมื่อครบกำหนดชำระเงินคืนตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพิ่มจากร้อยละ 15.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 16.5 ต่อปีร้อยละ 17 ต่อปี ร้อยละ 17.5 ต่อปี และร้อยละ 18.5 ต่อปีได้หรือไม่โจทก์ฎีกาว่าถ้าจำเลยไม่ผิดนัดโจทก์จะได้ประโยชน์จากการเอาเงินที่จำเลยชำระไปให้ลูกค้ารายอื่นของโจทก์กู้ยืมโจทก์จะได้ดอกเบี้ยตามอัตราที่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราที่โจทก์เรียกเก็บได้จากจำเลย เห็นว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ฎีกาเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าเลยว่าการที่จำเลยผิดนัดทำให้โจทก์เสียหายโดยโจทก์จะนำเงินที่จำเลยต้องชำระไปให้ผู้ใดกู้ทำให้โจทก์ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยตามที่โจทก์ฎีกา ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยได้เบิกความรับว่าได้รู้ถึงความเสียหายขาดประโยชน์ของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.14 นั้นปรากฏว่าตามเอกสารดังกล่าวเป็นรายละเอียดการชำระหนี้ของจำเลยและการคำนวณคิดดอกเบี้ยของโจทก์เท่านั้น จำเลยยังไม่ได้รับทราบหรือยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวแต่อย่างใดยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้คาดเห็นล่วงหน้าก่อนว่า การผิดนัดของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายมากกว่าดอกเบี้ยในอัตราที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยขณะผิดนัดตามที่โจทก์ฎีกา โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพิ่มจากร้อยละ 15.5 ต่อปีเป็นร้อยละ 16.5 ต่อปีร้อยละ 17 ต่อปี ร้อยละ 18.5 ต่อปี หลังจากครบกำหนดชำระเงินคืนแล้ว
พิพากษายืน