คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2014/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยระบุเหตุเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างโจทก์เพียงว่าจำเลยมีเหตุผลบางประการของบริษัท มิได้มีข้อความระบุว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ฉะนั้นการที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มาทำงานสาย เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย อันเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 นั้น จึงเป็นการยกข้อต่อสู้นอกเหนือจากหนังสือเลิกจ้าง คดีจึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าว พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทำผิดระเบียบโดยในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2529 โจทก์มาทำงานสาย 14ครั้งขาดงานอีก 2 วันครึ่ง จำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วโจทก์ก็มาสายในระหว่างเดือนเมษายนถึงสิงหาคม 2529 อีกรวม30 ครั้ง การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยและประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าหนังสือยุติการจ้างเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุว่าจำเลยยินดีจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายมิได้หมายความว่าจำเลยยินยอมจ่ายค่าชดเชย เพราะการที่จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ต้องพิจารณากันอีกชั้นหนึ่ง โดยฝ่ายกฎหมายของจำเลยและเงินทดแทนกับค่าชดเชยก็เป็นเงินคนละประเภทกัน ซึ่งหนังสือของจำเลยเอกสารหมาย จ.2 ได้แจ้งยืนยันว่าจำเลยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ฉะนั้น เมื่อการกระทำของโจทก์ต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3)แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นั้น เห็นว่า ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.1 จำเลยระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้เพียงว่าจำเลยมีเหตุผลบางประการของบริษัท มิได้มีข้อความระบุว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ได้กระทำความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ฉะนั้น การที่จำเลยให้การต่อสุ้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มาทำงานสายเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย อันเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ47 นั้น จึงเป็นการยกข้อต่อสู้นอกเหนือจากหนังสือเลิกจ้างคดีจึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ สำหรับหนังสือเอกสารหมาย จ.2 ที่จำเลยแจ้งยืนยันว่าจะไม่จ่ายเงินทดแทนเพราะโจทก์ปฏิบัติผิดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย เห็นว่าหนังสือดังกล่าวเพียงแสดงเหตุผลกล่าวอ้างปฏิเสธไม่จ่ายเงินทดแทนขึ้นภายหลังจากที่ได้เลิกจ้างแล้ว หาได้เป็นการกล่าวอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างในขณะเลิกจ้างแต่อย่างใดไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หรือฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share