คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2013/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทราบโดยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์โดยศาลชั้นต้นอนุญาตซึ่งอาจถือได้ว่าจำเลยทราบหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้วตามกฎหมายแต่เมื่อพิจารณาพยานจำเลยที่ว่าในช่วงเวลาที่โจทก์ประกาศหนังสือพิมพ์นั้นจำเลยบวชชีประจำอยู่ที่วัดซึ่งอยู่ในหุบเขาจึงไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องจึงน่าเชื่อว่าจำเลยยังไม่ทราบหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องจริงจำเลยจึงไม่ยื่นคำให้การต่อสู้คดีและในวันนัดสืบพยานโจทก์นั้นจำเลยก็ไม่ได้มาศาลโดยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณากรณีจึงมีเหตุสมควรให้พิจารณาคดีใหม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางภาระจำยอมและให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนภารจำยอมให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 61653 ของจำเลยเป็นภารยทรัพย์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 61654 และเลขที่ 2206 ของโจทก์ทั้งสามหากจำเลยไม่ปฎิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงพิจารณาพิพากษาคดีไปฝ่ายเดียว โดยให้โจทก์ทั้งสามชนะคดี
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อ้างว่า เพิ่งทราบว่าโจทก์ทั้งสามฟ้องคดี มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาและโจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทโดยอาศัยเดินเพียงอย่างเดียว และใช้มาไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ได้ภารจำยอม และถ้าหากมีภาระจำยอมจริง ก็ไม่เกิน 1 เมตร ขอให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ และอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ
โจทก์ทั้งสามยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ทั้งสามได้นำส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้แก่จำเลยโดยชอบแล้ว จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด ถือได้ว่าจงใจขาดนัด และคดีนี้ศาลได้ออกคำบังคับเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 เมื่อจำเลยได้มายื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในวันที่ 11 ตุลาคม 2536 เกินระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้น ไต่สวน แล้ว มี คำสั่ง ยกคำร้อง
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม2532 โจทก์ทั้งสามได้ฟ้องจำเลยเรื่องให้เปิดทางภารจำยอมละเมิด โดยระบุภูมิลำเนาของจำเลยว่าอยู่ที่บ้านเลขที่ 289 ถนนสุขุมวิท 71 ซอยพานิชอนันต์ แขวงคลองตัน เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานศาลไปส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลย แต่ส่งไม่ได้เนื่องจากบ้านดังกล่าวปิดใส่กุญแจและไม่พบผู้ใด โจทก์จึงขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยใหม่ปรากฎว่าจำเลยย้ายออกจากบ้านดังกล่าวโดยแจ้งว่าจะย้ายออกไปเข้าบ้านเลขที่ 40/1 บ้านเกษตรศิลป์ ตำบลหนองหารอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ได้ติดต่อสอบถามและขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านใหม่ของจำเลย แต่เจ้าหน้าที่ทะเบียนอำเภอสันทรายแจ้งว่าจำเลยไม่ได้แจ้งย้ายเข้าในบ้านดังกล่าวโจทก์จึงแถลงต่อศาลว่าจำเลยมีภูมิลำเนาไม่แน่นอน ขอส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ศาลชั้นต้นอนุญาต ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณาหรือไม่ในข้อนี้จำเลยนำสืบรับว่า จำเลยได้ย้ายภูมิลำเนา จากบ้านเลขที่ 289 ถนนสุขุมวิท 71 ซอยพานิชอนันต์ แขวงคลองตันเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ตามที่โจทก์ระบุในฟ้อง โดยแจ้งว่าประสงค์จะย้ายออกไปเข้าบ้านเลขที่ 40/1 บ้านเกษตรศิลป์ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จริง แต่เนื่องจากเจ้าอาวาสวัดเชตุพลจังหวัดเชียงใหม่ ที่จำเลยมอบที่ดินให้ตั้งสำนักปฎิบัติธรรมดังกล่าวเพื่อขอติดตั้งเครื่องรับโทรศัพท์ จำเลยจึงยินยอมและมอบให้เจ้าอาวาสวัดเชตุพลดำเนินการ แล้วจำเลยพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปี2531 จำเลยบวชชีประจำอยู่ที่วัดเขาสมโภช อำเภอชัยบาดาลจังหวัดลพบุรี ซึ่งอยู่ในหุบเขาและเป็นช่วงเวลาที่โจทก์ประกาศหนังสือพิมพ์ให้จำเลยทราบคำฟ้องและหมายเรียกคดีนี้ ต่อมาจำเลยได้สึกจากบวชชี แล้วย้ายภูมิลำเนากลับมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 289 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่4 มกราคม 2537 ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.3 จำเลยจึงไม่ทราบว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โดยจำเลยมีพระครูศิริธรรมานุศาสตร์เจ้าอาวาสวัดเชตุพล จังหวัดเชียงใหม่ พระภิกษุผิว และพระภิกษุพงษ์สุธี ซึ่งประจำอยู่ที่วัดสมโภช เบิกความสนับสนุนความข้อนี้ เห็นว่า แม้โจทก์จะได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทราบโดยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์โดยศาลชั้นต้นอนุญาต ซึ่งอาจถือได้ว่าจำเลยทราบหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้วตามกฎหมาย แต่เมื่อพิจารณาพยานจำเลยแล้ว น่าเชื่อว่าตามความเป็นจริงจำเลยยังไม่ทราบหมายเรียกและสำเนาฟ้องจำเลยจึงไม่ยื่นคำให้การต่อสู้คดี และในวันนัดสืบพยานโจทก์นั้น จำเลยไม่ได้มาศาลโดยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยนั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ โดยให้จำเลยยื่นคำให้การแก้คดีแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share