คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2012/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ โดยมี อ.เป็นผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และ อ. ได้นำที่ดินมาจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และหนี้ตามสัญญาค้ำประกันของ อ.ด้วย อ. ถึงแก่กรรมมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก แม้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันเกิน 1 ปี นับแต่อ. ถึงแก่กรรม คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 แล้วก็ตาม แต่โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองก็ยังคงฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจากที่ดินที่จำนองได้ตามมาตรา 189 และมาตรา 745

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีทบต้นเป็นรายเดือน ในวันเดียวกันนายอำนาจได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2520นอกจากนี้ยังนำที่ดินโฉนดเลขที่ 955 ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม มาจดทะเบียนจำนองเฉพาะส่วน เป็นการประกันด้วย ต่อมานายอำนาจถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาและผู้จัดการมรดกของนายอำนาจ จึงต้องรับผิดชอบแทนนายอำนาจต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้คิดถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2525เป็นเงิน 484,481.18 บาท โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสองแล้ว ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 484,481.18 บาทพร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ จำเลยที่ 1ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ให้การว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้นนายอำนาจตายเกิน 1 ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ หนี้สินระหว่างโจทก์จำเลยหากมีอยู่จริงก็ไม่เกิน 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 365,389.02 บาทพร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ 2 ชำระส่วนที่ยังค้างชำระแต่ไม่เกิน200,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 955 ส่วนของนายอำนาจพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดถ้าไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นบังคับคดีจนครบแต่ไม่เกิน200,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยหากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที 955ส่วนของนายอำนาจพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาด หากชำระหนี้ไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2ว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอำนาจ จิรันดรผู้จำนองต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ในจำนวนเงิน 200,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยอีกต่างหากด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนเป็นประกัน เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 ระบุว่า “ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินเฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของตนแก่ผู้รับจำนองเป็นประกันหนี้การกู้เบิกเงินเกินบัญชีและหรือหนี้สินประเภทอื่น ๆของนายสุวรรณ ศุภมงคล และหรือของผู้จำนองทั้งที่มีอยู่แล้วในขณะนี้ หรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า อันจะพึงมีต่อธนาคารกสิกรไทยจำกัด เป็นเงิน 200,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี” จะเห็นได้ว่าตามสัญญาดังกล่าว นอกจากเป็นการประกันเพื่อหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของนายสุวรรณ ศุภมงคล จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นแล้ว ยังเป็นการประกันเพื่อหนี้ของผู้จำนองคือนายอำนาจ จิรันดร เองซึ่งเป็นหนี้ผูกพันอยู่กับโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันอีกด้วย และแม้นายอำนาจ จิรันดร จะถึงแก่กรรมไปก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอำนาจ จิรันดร เป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีสำหรับจำเลยที่ 2ในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แล้วก็ตาม ก็หาตัดสิทธิโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองที่จะบังคับชำระหนี้ค้ำประกันนั้นจากทรัพย์สินที่จำนองไม่ ตามมาตรา 189 และมาตรา 745 ดังนั้นในการวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอำนาจ จิรันดร ที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาจำนอง จึงต้องนำหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.4 มาพิจารณาด้วย ตามหนังสือสัญญาดังกล่าว ข้อ 1 ระบุว่า “เนื่องในการที่ธนาคารได้ยอมให้นายสุวรรณ ศุภมงคล ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “ลูกหนี้” กู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญา ลงวันที่ 19 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2520 เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท นั้น ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง”และข้อ 2 ระบุว่า “ถ้าแม้ว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้…ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญานั้นทันที” ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อตกลงในสัญญาทั้ง 2 ข้อนั้นผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้อย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้จำนวนเงิน 200,000 บาท ซึ่งรวมทั้งดอกเบี้ยอีกต่างหากตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอำนาจ จิรันดร เพื่อบังคับชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์จากทรัพย์สินที่จำนองได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share