คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2011/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์อนุมัติให้จ่ายเงินสดแก่ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตที่มาขอเบิกเงินโดยโจทก์มิได้รับประโยชน์หรือเรียกร้องเอาผลประโยชน์จากการอนุมัติจึงเป็นการอนุมัติไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่เห็นสมควรการที่โจทก์ไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ให้ส่งใบเบิกไปให้ส่วนบัตรเครดิตสำนักงานใหญ่ในวันรุ่งขึ้นตามระเบียบของจำเลยถือได้แต่เพียงว่าเป็นการปฎิบัติหน้าที่บกพร่องและประมาทเลินเล่อเท่านั้นหาใช่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่อย่างใดไม่ จำนวนเงินที่โจทก์อนุมัติให้จ่ายแก่ลูกค้าผู้นำบัตรเครดิตมาขอเบิกนั้นแม้จำเลยจะเรียกเก็บจากธนาคารที่ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตมาขอเบิกไม่ได้เนื่องจากล่วงเลยเวลากว่า120วันแล้วก็ตามแต่จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะทวงถามหรือฟ้องบังคับเอาแก่ลูกค้าผู้มาขอเบิกได้การปฎิบัติหน้าที่บกพร่องและประมาทเลินเล่อของโจทก์ดังกล่าวจึงยังไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรง ขณะเกิดเหตุโจทก์ทำงานตำแหน่งสมุห์บัญชีมีหน้าที่ดูแลการเงินในสาขาของจำเลยการที่โจทก์ปฎิบัติหน้าที่บกพร่องประมาทเลินเล่อย่อมทำให้จำเลยเสียหายแม้ความเสียหายดังกล่าวจะยังไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงแต่ก็ถือได้ว่าการกระทำของโจทก์มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเมื่อการเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ส่วนค่าชดเชยนั้นเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้เตือนเป็นหนังสือก่อนทั้งไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้กระทำผิดในประการอื่นอีกจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวน 4,174,458 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 22,625บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันของต้นเงิน 99,330 บาท นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์อาศัยตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและค่าเสียหายใด ๆ พร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ทุจริตต่อหน้าที่ หากแต่โจทก์ปฎิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอยู่บ้างแต่ไม่ถึงกับร้ายแรงซึ่งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 8 (4) จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ต้องทำหนังสือตักเตือนก่อน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวโดยมิได้ทำหนังสือตักเตือนก่อน จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 281,435 บาท ค่าชดเชย 99,330 บาทค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 5,518 บาท และเงินบำเหน็จ211,076.25 บาท รวมเป็นเงิน 597,359.25 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 99,330 บาทนับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาขา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 ขณะโจทก์ทำงานเป็นสมุห์บัญชีประจำสาขาหนองแขมโจทก์เป็นผู้อนุมัติให้จ่ายเงินตามที่ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตขวัญนครมาขอเบิกเงินสดไป 12 ครั้งรวมเป็นเงิน 93,282 บาท โดยโจทก์มิได้รับประโยชน์จากการอนุมัติให้จ่ายเงินดังกล่าว การเบิกเงินสดของลูกค้าดังกล่าวทางสาขาจะทำใบเบิก 3 ฉบับ ฉบับที่หนึ่งส่งมอบให้แก่ลูกค้าฉบับที่สองส่งไปให้ส่วนบัตรเครดิต สำนักงานใหญ่ ส่วนฉบับที่สามทางสาขาเก็บไว้เอง โจทก์ในฐานะสมุห์บัญชีมีหน้าที่ควบคุมดูแลให้พนักงานจัดพิมพ์หนังสือนำส่งมาให้โจทก์ลงนามเพื่อนำส่งใบเบิกให้ส่วนบัตรเครดิต สำนักงานใหญ่ ในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่ลูกค้ามาเบิกเงินสด แต่ปรากฎว่าใบเบิกทั้ง 12ครั้ง ได้ส่งให้ส่วนบัตรเครดิตสำนักงานใหญ่ ช้ากว่า 120 วันเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากธนาคารที่ลูกค้าถือบัตรเครดิตได้ ทำให้จำเลยต้องทวงหนี้หรือฟ้องร้องลูกค้าที่มาขอเบิกเงินดังกล่าวเอง ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2538จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย โดยจำเลยไม่เคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์ก่อน
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อแรกที่จำเลยอุทธรณ์มีว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่เห็นว่า การที่โจทก์อนุมัติให้จ่ายเงินสดแก่ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตขวัญนครที่มาขอเบิกเงินโดยโจทก์มิได้รับประโยชน์หรือเรียกร้องเอาผลประโยชน์จากการอนุมัติ ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการอนุมัติไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่เห็นสมควร การที่โจทก์ไม่ควบคุมดูแลพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ให้ส่งใบเบิกไปให้ส่วนบัตรเครดิต สำนักงานใหญ่ในวันรุ่งขึ้นตามระเบียบของจำเลย จึงถือได้แต่เพียงว่าเป็นการปฎิบัติหน้าที่บกพร่องและประมาทเลินเล่อเท่านั้น หาใช่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่อย่างใดไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่สองมีว่า การที่โจทก์ปฎิบัติหน้าที่บกพร่องและประมาทเลินเล่อดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้นทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงและเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า จำนวนเงินที่โจทก์อนุมัติให้จ่ายแก่ลูกค้าผู้นำบัตรเครดิตขวัญนครมาขอเบิกตามฟ้อง แม้จำเลยจะเรียกเก็บจากธนาคารที่ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตมาขอเบิกไม่ได้ เนื่องจากล่วงเลยเวลากว่า 120 วันแล้วก็ตาม แต่จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะทวงถามหรือฟ้องบังคับเอาแก่ลูกค้าผู้มาขอเบิกได้การปฎิบัติหน้าที่บกพร่องและประมาทเลินเล่อของโจทก์ดังกล่าวจึงยังไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรงดังที่จำเลยอุทธรณ์
ปัญหาข้อที่สามมีว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เห็นว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ทำงานตำแหน่งสมุห์บัญชีมีหน้าที่ดูแลการเงินในสาขาของจำเลย การที่โจทก์ปฎิบัติหน้าที่บกพร่องและประมาทเลินเล่อย่อมทำให้จำเลยเสียหาย แม้ความเสียหายดังกล่าวจะยังไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าการกระทำของโจทก์มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า สำหรับค่าเสียหายนั้น เมื่อกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ส่วนค่าชดเชยนั้น จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ต่อเมื่อการเลิกจ้างเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 แต่การเลิกจ้างของจำเลยคดีนี้ไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว เพราะโจทก์เพียงแต่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไม่ถึงขั้นกรณีร้ายแรง และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้เตือนเป็นหนังสือก่อน ทั้งไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้กระทำผิดในประการอื่นอีก จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์สำหรับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อโจทก์มิได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตามฟ้อง ส่วนเงินบำเหน็จนั้น ตามระเบียบว่าด้วยเงินบำเหน็จ เอกสารหมาย ล.3 กำหนดว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์เฉพาะกรณีที่โจทก์ต้องออกจากงานตามข้อ 5.1 และข้อ 5.2 กล่าวคือ ข้อ 5.1 ออกโดยมีเวลาทำงานไม่ครบ 10 ปี ข้อ 5.2.1 กระทำการทุจริตหรือแนะช่องทางหรือสมรู้ร่วมคิดกระทำการทุจริต 5.2.2 ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงมีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ 5.2.3 ปฎิบัติงานโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือชื่อเสียงของธนาคารอย่างร้ายแรง 5.2.4 จงใจขัดคำสั่งโดยชอบของผู้ยังคับบัญชา ฝ่าฝืนระเบียบวินัย เกียจคร้านไม่ตั้งใจปฎิบัติงาน มีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องคำพิพากษาให้จำคุกในความผิดซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท แต่การกระทำของโจทก์ตามที่ได้วินิจฉัยมาเป็นเรื่องที่โจทก์ปฎิบัติหน้าที่บกพร่องและประมาทเลินเล่ออันไม่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรง จึงไม่เข้ากรณีที่จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ตามระเบียบว่าด้วยเงินบำเหน็จที่กล่าวแล้ว เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ สรุปแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นเป็นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share