คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 201/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ทางพิพาทเป็นที่สาธารณะแต่อำเภอได้ออกใบเหยียบย่ำให้จำเลยคร่อมทางสาธารณะนี้ เมื่อจำเลยทำการล้อมรั้วในที่ดินของจำเลยตามใบเหยียบย่ำนั้นโดยทางเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบเหยียบย่ำและโจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยรู้มาก่อนว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะดังนี้จำเลยไม่มีความผิดตาม กฎหมายลักษณะอาญา ม.336(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้บังอาจปักรั้วให้ล้ำเข้าไปในทางหลวงโดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๓๓๖(๒)
จำเลยต่อสู้ว่ารั้วที่จำเลยทำขึ้นอยู่ภายในเขตต์ที่ดินตามใบเหยียบย่ำของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นฟังว่าทางพิพาทเป็นสาธารณะจริง แต่อยู่ในใบเหยียบย่ำของจำเลยซึ่งอำเภอออกให้จำเลยทำให้จำเลยเข้าใจว่าทางอำเภอได้อนุญาตให้จำเลยทำในที่ดินการที่จำเลยล้อมรั้วปิดกั้นที่ดินของจำเลยรวมทั้งทางพิพาทยังไม่เรียกว่าจำเลยบังอาจปิดทางหลวงเพราะจำเลยมิได้ทำไปโดยลำพังพลการ พิพากษาฟ้องโจทก์และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ฎีกาได้ฉะเพาะปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพะยานหลักฐานในสำนวน
การที่จำเลยทราบหรือไม่ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือทางหลวงนั้นเป็นข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะแต่อำเภอได้ออกใบเหยียบย่ำให้จำเลยคร่อมทางนี้ด้วย จำเลยได้ทำการล้อมรั้วในที่ดินของจำเลยตามใบเหยียบย่ำนั้นโดยหลงเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบเหยียบย่ำและโจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยรู้มาก่อนว่าทางพิพาท(หมาย ง.) เป็นทางสาธารณะ จำเลยจึงไม่มีความผิด ข้อเท็จจริงในคดีนี้ต่างกับฎีกาที่ ๗๒๑/๒๔๗๙ ระหว่างอัยการจันทบุรี โจทก์ นายอุ๋ย บุญพิทักษ์จำเลยที่โจทก์อ้างมา ในคดีนั้นปรากฎว่าจำเลยรู้อยู่ว่าเป็นทางหลวง จึงมีความผิด
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์

Share